“ขนมลา” หรือที่รู้จักกันในชื่อขนมลางู เป็นขนมพื้นบ้านจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีรสหวานหอม กรอบ อร่อย ซึ่งเดิมทีเป็นขนมที่นิยมทำถวายในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ แต่ในปัจจุบัน ขนมลางู ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศและกลายเป็นของดีจากปากพนัง
ขนมลา ลางู และลากรอบ มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ขนมลาเป็นขนมโบราณที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้คิดค้น แต่ได้รับการถ่ายทอดและสืบทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน โดยมีความเชื่อว่า “ขนมลา” สื่อถึงการทำเครื่องนุ่งห่มผ้าแพร เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายกับการถักทอผ้าเป็นร่างแห
ส่วนใหญ่จะทำขนมลาให้มีลักษณะเป็นเส้นแป้งเล็ก บาง และกรอบ เพราะเชื่อกันว่าเมื่อทำขนมนี้ถวายในงานบุญ จะช่วยให้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว แม้จะกลายเป็นเปรตก็สามารถรับประทานขนมลาในวันสารทเดือนสิบได้
ขนมลาเกิดจากการใช้กะลามะพร้าวเจาะรูเป็นเครื่องมือในการเทแป้งลงในกระทะให้ได้แป้งที่มีขนาดเล็ก บาง และกรอบ โดยขนมลาจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขนมลาเช็ดที่ใช้น้ำมันน้อยและโรยแป้งหนาให้แป้งมีลักษณะนุ่มคล้ายแห และอีกประเภทคือ “ลากรอบ” ซึ่งจะนำขนมลาเช็ดมาฉาบน้ำตาลก่อนที่จะตากแดดจนกรอบ
“ลางู” เป็นการดัดแปลงขนมลาเดิม โดยการเพิ่มแป้งข้าวเจ้าและน้ำมันเข้าไป เมื่อแป้งสุกแล้วจะถูกม้วนเป็นแท่งกลมยาวเหมือนกับงู จึงได้ชื่อว่าลางูตามรูปร่างนั้น

วิธีทำขนมลากรอบจากปากพนัง ขนมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงจากแถบนี้
วัตถุดิบและวิธีการทำขนมลาปากพนัง อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และทักษะของแต่ละคน หากใครเป็นมือใหม่สามารถทำตามสูตรเบื้องต้นที่ง่ายได้ดังนี้
วัตถุดิบขนมลางู ปากพนัง
- แป้งข้าวเจ้า 5 กิโลกรัม
- แป้งมัน 2 ½ กิโลกรัม
- น้ำตาลโตนด 3 กิโลกรัม
- ไข่แดง 4 ฟอง
- น้ำมัน
วิธีทำลา ปากพนัง
1. เตรียมน้ำตาลโตนดโดยการเคี่ยวให้เป็นเนื้อเดียว
2. ผสมแป้งและน้ำตาลโตนดให้เข้ากันดี
3. นำแป้งใส่ในกะลาหรือกระป๋องที่มีรู
4. ตั้งกระทะให้ร้อน ทาน้ำมันผสมไข่แดงเล็กน้อยเพื่อป้องกันแป้งติดกระทะ
5. โรยแป้งให้ทั่วกระทะในรูปทรงที่ต้องการ
ในปัจจุบัน ขนมลางู หรือ ลากรอบ เป็นขนมที่สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปี ด้วยรสชาติกรอบ หวาน หอม และรับประทานง่าย จึงไม่แปลกที่นอกจากจะเป็นขนมพื้นบ้านที่ทำขึ้นถวายวัดในช่วงสารทเดือนสิบแล้ว ยังกลายเป็นขนมขึ้นชื่อและเป็นของฝากยอดนิยมประจำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช