ขับรถไปตามเส้นทางชนบท รบ.4013 ผ่านอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ถนนสองข้างทางเต็มไปด้วยสวนมะพร้าวที่เขียวขจี สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็น วิถีชีวิตของชาวสวนที่ใช้มะพร้าวทุกส่วนในการสร้างรายได้ เช่น ลูกมะพร้าวที่ขายทั้งน้ำและเนื้อ ขุยมะพร้าวที่ใช้เพาะปลูกต้นไม้ หรือกาบมะพร้าวที่นำมาทำดิน และพื้นที่ริมถนนนี้ยังมีพื้นที่สำหรับนักปั่นจักรยานที่อยากสัมผัสลมชมทิวทัศน์
“คุณชายตะลอนชิม” ในสัปดาห์นี้ “คุณชายแป๊ะ” ขอพาทุกท่านไปพบกับ “ร้านข้าวหลามแม่วรรณา” ของ “แม่วรรณา ศุกระศร” อายุ 61 ปี ที่ค้นพบจากความสุขในการเดินทาง โดยเมื่อขับผ่านแผงข้าวหลามแม่วรรณา ที่ตั้งอยู่เด่นเป็นสง่า หน้าบ้านเลขที่ 2 หมู่ 4 ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ตะกร้าพลาสติกสีชมพูใบใหญ่บรรจุกระบอกข้าวหลามที่เผาเสร็จใหม่ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ วางเรียงรายรอคอยนักชิมจากทุกทิศทาง


กลิ่นหอมของลำไผ่ที่วางบนเตาข้าวหลามลอยมาถึงหน้าร้าน ดึงดูดให้ผมต้องเดินวนรอบแผงด้วยความสนใจ เตาเผามีการจัดเรียงเหล็กเป็นแถวคู่และวางถ่านไว้กลางเพื่อให้ความร้อนสม่ำเสมอในการเผาข้าวหลาม ทั้งสองด้านพร้อมกัน มีคนคอยพลิกกระบอกข้าวหลามให้สุกทั่วถึง ระหว่างนั้นน้ำกะทิเดือดปุดๆ จากภายในลำไผ่ ยิ่งทำให้เกิดความหอมชวนหลงใหล
“ขอข้าวหลามสักกระบอกครับป้า” ผมพูดขอข้าวหลามขณะที่เดินกลับมาหน้าร้าน พบป้าวรรณากำลังยุ่งกับการหยิบข้าวหลามใส่ถุงให้ลูกค้าประจำ


โพละ! เสียงมีดพร้ากระทบกับกระบอกข้าวหลาม เผยให้เห็นข้าวเหนียวสีขาวนวลสวยงาม เยื่อไผ่ห่อหุ้มเป็นรูปทรงกระบอกอย่างลงตัว ผมไม่รอช้า คว้าส่วนหัวของข้าวหลามมาใส่ปาก รู้สึกเหมือนเจ้าชายพบรักกับเจ้าหญิงในป่าลึก มันคือการค้นพบสุดยอดขนมหวานที่แสนอร่อย รสชาติหวานมันลงตัวจริงๆ วินาทีนั้นผมต้องยั้งใจตัวเองและขอชิมต่อให้ถึงก้นกระบอกก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ “สุดยอดป้า หวานมันทั้งกระบอกจริงๆ” ผมพูดออกมาด้วยความหิวโหย
“เมื่อก่อนป้าทำข้าวหลามรสหวานจัดกว่านี้ แต่ตอนนี้ลดความหวานลงให้กลมกล่อมตามรสนิยมของลูกค้า สูตรของป้าทำด้วยความพิถีพิถันตั้งแต่เลือกข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากภาคเหนือ เบอร์ 1 ที่เม็ดข้าวเรียวยาวสวยและนิ่ม แช่ข้าวเหนียวในน้ำ 1 คืน ก่อนนำไปกรอกใส่กระบอก น้ำกะทิที่ใช้คัดมาจากมะพร้าวของชาวสวนบางคนที ใช้ทั้งหัวและหางกะทิปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายเพื่อให้ข้าวเหนียวมีสีขาวน่ากิน นอกจากถั่วดำที่คู่กับข้าวหลามแล้ว เรายังใส่มะพร้าวอ่อนหั่นเป็นเส้นๆ ที่ได้จากช่วงที่มะพร้าวน้ำหอมมีมาก จนลูกค้าติดใจ เนื้อมะพร้าวอ่อนเคี้ยวแล้วละมุนลิ้น กลายเป็นเอกลักษณ์ของร้าน นอกจากนี้ ข้าวหลามที่ย่างเสร็จใหม่ๆ ต้องรอให้เยื่อไผ่เย็นตัวลงแล้วจึงล่อนออกมา” ป้าวรรณาเล่าพร้อมขายข้าวหลาม


“ข้าวเหนียวดำสามารถเก็บได้ 3 วัน ส่วนข้าวเหนียวขาวเก็บได้ 2 วัน โดยไม่ต้องแช่ในตู้เย็น แต่ถ้าต้องการเก็บไว้ทานนานขึ้น ป้าแนะนำให้แช่ในช่องฟรีซ จะเก็บได้ 1 อาทิตย์ ป้ารู้จากลูกค้าที่มาซื้อข้าวหลามไปทานต่างประเทศและต้องการเก็บข้าวหลามให้ทานได้นานๆ” ป้าวรรณาช่วยแนะนำวิธีการเก็บข้าวหลามให้ทานได้นาน
ป้าวรรณาเล่าถึงจุดเริ่มต้น “ป้าตัดสินใจเปลี่ยนจากงานโรงงานมาเป็นพ่อค้าขายข้าวหลามในปี 2540 ในยุคฟองสบู่แตก โดยไปเป็นลูกมือพี่สาวขายข้าวหลามตามตลาดมหาชัยและงานวัด หลังจากนั้นป้าจึงเริ่มต้นขายข้าวหลามเองที่หน้าบ้าน แม้ว่าจะผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้ง ครั้งแรกที่ขายได้ 50 บาท ป้าดีใจมาก คิดว่านี่แหละอาชีพที่เลือก หลังจากนั้นเริ่มขายไม่หมด ต้องแจกให้เพื่อนบ้าน ป้ารับฟังคำติชมเพื่อนำมาปรับปรุงจนข้าวหลามมีรสชาติอร่อยแบบที่เห็นในวันนี้ ป้าตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ถ้าข้าวหลามไม่ดี หรือเยื่อไผ่ไม่ล่อนหมดกระบอก ป้าไม่ขายแน่นอน”

คุณชายแป๊ะ