กุศลกรรมบถ 10 คือ หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับความสุจริตทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก คัมภีร์แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
ความหมายของกุศลกรรมบถ 10 ประการ
กุศลกรรมบถ 10 คือ หลักธรรมเกี่ยวกับการทำกรรมดี หรือทางแห่งการกระทำที่เป็นกุศล ซึ่งประกอบด้วย 10 ประการที่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความสุขและความเจริญให้กับผู้ที่ปฏิบัติ
- คำว่า "กุศล" หมายถึง บุญหรือความดี สิ่งที่ดีงาม
- คำว่า "กรรมบถ" หมายถึง หนทางแห่งการกระทำ หรือการกระทำกรรมที่มีคุณค่า
เมื่อคำว่า "กุศลกรรมบถ 10" มารวมกัน หมายถึง หนทางการทำกรรมดีที่เป็นกุศล 10 ประการ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ถูกบันทึกในพระไตรปิฎกและถูกยึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยชาวพุทธ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขและความเจริญ

ทำความรู้จักกับ "กุศลกรรมบถ 10" ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
กุศลกรรมบถ 10 แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ กายกรรม (การกระทำทางกาย), วจีกรรม (การกระทำทางคำพูด) และมโนกรรม (การกระทำทางใจ) ซึ่งรวมทั้งหมดเป็น 10 ประการดังนี้
กุศลกรรมบถ 10 ทางกายกรรม
1. ไม่ฆ่าสัตว์ หรือทำลายชีวิตผู้อื่น
2. ไม่ขโมย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ยึดทรัพย์ของผู้อื่น
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม
กุศลกรรมบถ 10 ทางวจีกรรม
4. ไม่พูดโกหก ไม่พูดเท็จ
5. ไม่พูดคำส่อเสียด
6. ไม่ใช้คำหยาบคาย
7. ไม่พูดคำพูดที่ไม่มีสาระ
กุศลกรรมบถ 10 ทางมโนกรรม
8. ไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น
9. ไม่พยาบาทหรือคิดร้ายต่อผู้อื่น
10. มีความเห็นที่ถูกต้องตามธรรม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า หลักธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายในชีวิตประจำวัน หากใครสามารถนำกุศลกรรมบถ 10 มาปฏิบัติได้ เชื่อว่าเขาคนนั้นจะเป็นผู้ทำกรรมดี สะสมบุญเพื่อความสุข ความเจริญ และเป็นที่รักของผู้อื่น อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข