มาทำความรู้จักกับ "ส่อนขวัญ" พิธีกรรมเรียกขวัญของชาวอีสานที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ "สัปเหร่อ" โดย "ต้องเต" ผู้กำกับชาวอีสานที่ตั้งใจถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านผลงานชิ้นนี้และผลงานอื่นๆ
สัปเหร่อ ภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการกำกับของ ต้องเต แห่งจักรวาลไทบ้าน นอกจากความสมจริงและข้อคิดที่ตรึงใจผู้ชมแล้ว หนังยังสะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสานที่สืบทอดกันมายาวนาน หนึ่งในนั้นคือ พิธีส่อนขวัญ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก แต่ปรากฏในผลงานของต้องเตอีกครั้ง

"ส่อนขวัญ" พิธีกรรมเรียกขวัญ
ผู้ชมภาพยนตร์จะได้เห็นฉากหนึ่งหลังจากตัวละครเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่จัดเตรียมเครื่องบูชาและเดินตามทาง พร้อมกับใช้สวิงตักไปมาตามเส้นทาง ต้องเต ได้อธิบายถึงฉากนี้ในเพจส่วนตัวว่า "ส่อนขวัญ" เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวอีสานที่มักจัดขึ้นเมื่อมีผู้ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยทางกายและใจ
พิธีส่อนขวัญ เชื่อกันว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ขวัญของบุคคลนั้นจะหนีหาย ทำให้แม้หายป่วยแล้วก็ยังรู้สึกซึมเศร้า ไม่สดชื่น หรือไม่แจ่มใสเหมือนเดิม ผู้เฒ่าผู้แก่จึงจัดพิธีนี้เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจกลับคืนมา ชาวอีสานบางคนเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีส่อนขวัญ ผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการอีก
คำว่า ส่อน หมายถึง การตักหรือช้อน ดังนั้น ภาพที่เห็นแม่และคุณแม่ใหญ่ของตัวละครในภาพยนตร์ สัปเหร่อ ใช้สวิงตักสิ่งของต่างๆ นั้น คือการช้อนขวัญที่หายไปกลับคืนมา
ในภาพยนตร์ สัปเหร่อ ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ต้องเต ผู้กำกับชาวอีสาน ได้นำเสนอการเรียกขวัญที่หายไปจากอุบัติเหตุทางกาย และความเจ็บป่วยทางใจที่ทำให้ขวัญหนีหาย ต้องเตยังแสดงให้เห็นพิธีกรรมนี้อย่างชัดเจนใน มิวสิควิดีโอเพลง ขวัญเอยขวัญมา ของปาล์มมี่ ซึ่งในมิวสิควิดีโอ ยายของนางเอกใช้สวิงที่มีชุดแต่งงานเพื่อช้อนขวัญตามสถานที่ที่นางเอกและพระเอกเคยไปด้วยกัน เช่น ห้างสรรพสินค้าและโรงหนัง เพื่อเรียกขวัญกลับคืนมา
อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีส่อนขวัญประกอบด้วย สวิง หมากพลู บุหรี่ ข้าวเหนียวหนึ่งปั้น ไข่ต้มสุกหนึ่งฟอง ข้าวตัม ฝ้ายสำหรับผูกแขน ของหวาน ดอกไม้ และเสื้อผ้าของผู้ป่วย หลังเสร็จพิธี จะใช้เส้นฝ้ายหรือสายสิญจน์ผูกข้อมือเพื่อ "รับขวัญ"


เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมส่อนขวัญ ยังปรากฏในฉากสุดท้ายของมิวสิควิดีโอ ซึ่งนางเอกให้พระเอกกินไข่ต้ม แม้จะเต็มไปด้วยความเศร้า แต่การกินไข่และป้อนให้กันนั้นเปรียบเสมือนการเรียกขวัญและคืนความทรงจำที่สูญเสียไป
ท้ายที่สุด เรื่องราวในภาพยนตร์และเพลงต้องเผชิญกับความพลัดพรากและความเสียใจ แต่วิถีชาวอีสานที่แสดงผ่านพิธีกรรมส่อนขวัญ ซึ่งสะท้อนความเชื่อและศรัทธาของบรรพบุรุษ ได้สร้างความประทับใจและความจดจำให้กับผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักพิธีนี้มาก่อน
ต้องเต ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้