
ในยุคปัจจุบันคำว่า “สาธุ” ไม่ได้จำกัดแค่การกล่าวจากปากพระสงฆ์หรือฆราวาสเท่านั้น แต่ยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงความคิดเห็นในโซเชียล ทั้งในเรื่องทางศาสนาและเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง จนบางคนมองว่า ผู้ที่พิมพ์ “สาธุ สาธุ สาธุ” หรือ “สาธุ 99” เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเฉพาะ และบางครั้งถูกมองว่าเป็นผู้ที่ “งมงาย” แต่เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของคำนี้ จะพบว่า คำว่า “สาธุ” มีความหมายและที่มาที่ควรทำความเข้าใจก่อนที่จะเชื่อหรือทำตามกัน
คำว่า “สาธุ” หมายถึงอะไร
คำว่า สาธุ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ดี ถูกต้อง ยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จ ทั้งในภาษาบาลีและสันสกฤต การใช้คำว่า สาธุ เป็นการแสดงความเห็นด้วยกับสิ่งที่พูดหรือทำ หรือใช้ในประโยคที่เป็นคำสั่งหรือคำขอเพื่อแสดงความสุภาพ
ในทางศาสนา คำว่า สาธุ ปรากฏในคัมภีร์พระสูตรในหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะในสังคมไทยในปัจจุบัน คำว่า สาธุ จะถูกใช้โดยพระภิกษุสงฆ์เพื่อแสดงการเห็นด้วยหรือยอมรับว่าเหมาะสมดีงาม ส่วนฆราวาสจะกล่าวคำนี้หลังจากฟังเทศนาจบ หรือเมื่อพระให้พร ส่วนพระสงฆ์จะเปล่งคำ สาธุ เพื่อแสดงการรับรองมติหรือพิธีกรรมที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป
ตัวอย่างเช่น ในพิธีทอดกฐิน เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐินแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจะสอบถามว่าควรมอบผ้ากฐินให้กับภิกษุรูปใด ภิกษุอีกท่านจะเสนอชื่อภิกษุที่สมควรได้รับผ้ากฐิน เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นชอบและมีมติให้มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแล้ว ทุกท่านจะกล่าวพร้อมกันว่า สาธุ. ในการถวายสังฆทาน เมื่อผู้ถวายกล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว พระสงฆ์จะกล่าวว่า สาธุ.
ทำไมถึงต้องใช้คำว่า สาธุ
คำว่า สาธุ ในสังคมไทยรับความหมายจากภาษาบาลีและสันสกฤต โดยมีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ชอบแล้ว” หรือใช้เพื่อแสดงความเห็นว่าชอบและอนุโมทนา โดยทั่วไปมักใช้คำนี้คู่กับคำว่า โมทนา เช่น “โมทนาสาธุ” สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ระบุว่า คำว่า สาธุ มีลูกคำว่า “สาธุการ” ซึ่งหมายถึงการเปล่งวาจาว่าเห็นด้วยหรือยกย่องในบางโอกาส เช่น การแซ่ซ้องหรือกล่าวสาธุการขึ้นพร้อมๆ กัน อีกคำคือ
หากแปลความหมายตามตัวจะเห็นได้ชัดว่า คำว่า “สาธุ” เป็นคำที่ใช้เพื่อแสดงการยกย่องสรรเสริญ ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ยังพบการใช้คำนี้ในการขอร้อง น้อมรับ หรือปลอบใจ เช่นในบทที่กล่าวว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อโปรดข้าพระองค์ด้วยเถิด
ใน คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่า สาธุ ออกเป็น 6 นัยยะ โดยแต่ละนัยยะจะมีความหมายและการใช้งานที่แตกต่างกันไป
- สุนทระ หมายถึง ความดีงาม
- ทัฬหิกัมมะ หมายถึง การทำซ้ำเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับการกระทำนั้น
- อายาจนะ คือคำขอร้องหรือการเรียกร้องที่มักใช้เมื่อเริ่มต้นที่จะพูดสิ่งอื่นๆ ต่อไป
- สัมปฏิจฉนะ คือการรับฟังหรือการยอมรับสิ่งที่ผู้อื่นกล่าว
- สัชชนะ หมายถึง คนที่มีคุณธรรม
- สัมปหังสา คือการแสดงความยินดีหรือความพอใจ
“สาธุ” คือเสียงที่แสดงการเห็นด้วย
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ได้เคยแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ท่านได้อธิบายว่า คำว่า สาธุ ในภาษาไทยมีความหมายหลายประการอย่างน้อย 5 อย่าง
สาธุหมายถึง การอนุโมทนา การแสดงความยินดี การยอมรับ หรือการเห็นด้วย
ท่านยกตัวอย่างว่า “เมื่อเราเห็นด้วยกับใครหรือยอมรับอะไรบางอย่าง เราก็มักจะกล่าวว่า สาธุ เช่น เมื่อเราเห็นด้วยในการเลือกตั้งและเห็นคะแนนเสียง เราก็บอก สาธุ โดยไม่ต้องมีเสียงปรบมือดัง ๆ เพราะการปรบมือนั้นเป็นของชาวตะวันตก แต่สำหรับคนไทยเราใช้คำว่า สาธุเพื่อแสดงการเห็นด้วยหรือเห็นว่าสิ่งนั้นเหมาะสมแล้ว หรือแม้แต่เมื่ออาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์กราบได้สวย ก็สามารถบอกว่า สาธุ ดีแล้ว อนุโมทนายินดีด้วย”
สาธุ หมายถึง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือให้สำเร็จประโยชน์
ท่านยกตัวอย่างว่า “ได้ยินคำว่า มัตตัญยุตตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์เสมอ”
สาธุ หมายถึง ขอให้สมพรปากกับคำอวยพรที่ท่านให้
ท่านยกตัวอย่างว่า “อันนะภาระในครั้งสมัยพุทธการเป็นคนยากจนเข็ญใจทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้อธิฐานว่าคำว่าจนอย่าได้มีและจงได้รู้ธรรมอย่าง ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรว่า อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปาจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา แปลว่า ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี ฯ จึงรับว่าสาธุขอให้สมพรปากท่าน”
สาธุ เป็นสำนวนของพระ หมายถึง ขอโอกาส
ท่านยกตัวอย่างว่า “อย่างสมมุติว่าจะอาราธนาศีลก็จะขึ้นว่า สาธุ สาธุ มะยัง ภันเต เคยได้ยินบ้างไหม เหมือนกับว่าคนเป็นครูบาอาจารย์จะทำอะไรก็ขอโอกาส พระเถระเสียก่อนเช่น จะเปิดหน้าต่างก็ ขอโอกาสท่านอาจารย์ครับผมจะเปิดหน้าต่าง ทำอะไรต้องบอก ผู้ใหญ่เสียหน่อย ไม่ใช้ทำพรวด ๆ ไปขาดความเคารพ การทำขอโอกาสอย่างนี้ท่านเรียกว่าสาธุภาษาบาลี ภาษาไทยว่าขอโอกาส”
สาธุ หมายถึง แสดงความต้อนรับแสดงความยินดีไชโยโห่ร้องกราบไหว้
ท่านยกตัวอย่างว่า “เวลาสมเด็จสังฆราชหรือใครก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ ต่างประเทศเช่นเนปาลเขานิยมเวลามาต้อนรับเขาจะร้องสาธุตลอดทาง ที่มาต้อนรับ สาธุตัวนี้ก็คือขอยินดีต้อนรับ”
“สาธุ” ด้วยเจตนาดี
ดังความหมายที่กล่าวมาแล้วนั้น เห็นได้ว่าในกลุ่มสาธุชนนิยมใช้คำว่า สาธุ ด้วยเจตนาเดียวดังสงฆ์ คือ เห็นชอบ เห็นว่าดีงาม เช่น เมื่อเห็นใครไหว้พระ ทำบุญ โพสลงโซเชี่ยล หากรู้สึกยินดีในการกระทำนั้นจึงมักแสดงความเห็นชอบด้วยคอมเมนต์ว่า “สาธุ” หรือ “ขออนุโมทนาสาธุด้วยคน” ส่วน “สาธุ 99” เป็นการแสดงการยอมรับเช่นกัน แต่ต่อท้ายด้วยเลขมงคลตามความเชื่อ ด้วยเลข 9 สื่อถึงความก้าวหน้ารุ่งเรือง
เมื่อได้รับคำอวยพรหรือแม้แต่การฟังคำพยากรณ์ดวงชะตาที่ทำนายว่าจะมีสิ่งดีเกิดขึ้น การตอบกลับด้วยคำว่า สาธุ ก็เป็นการแสดงถึงการยอมรับว่ามันเหมาะสมและดีงาม ขอให้คำทำนายเป็นจริงดั่งที่กล่าวมา นอกจากจะเป็นการตอบรับอย่างสุภาพแล้ว ในกลุ่มคนที่เชื่อในโหราศาสตร์ยังเชื่อว่าเป็นการเปิดใจและรับพลังงานดีๆ เข้ามาหาตัวเอง หรืออาจเป็นวิธีที่ช่วยให้มองโลกในแง่บวกมากขึ้น
คำว่า “สาธุ” ยังเป็นธรรมเนียมในการแสดงความเคารพ โดยการกร่อนเสียงเป็น “ธุ” ซึ่งเป็นการสอนให้เด็ก ๆ ยกมือไหว้พระหรือไหว้ผู้ใหญ่ เช่น ผู้ปกครองในรุ่นก่อนมักบอกให้เด็กๆ พูดว่า “ธุจ้า” เช่น “ธุจ้าย่าก่อนลูก” ซึ่งหมายถึงให้เด็กไหว้และขอบคุณคุณย่าก่อน
การใช้คำว่า “สาธุ” ไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียง พิมพ์ในคอมเมนท์ หรือแม้แต่พูดในใจ ล้วนหมายถึงการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ดี เป็นคำที่ใช้เพื่อแสดงการยอมรับการกระทำของผู้อื่นด้วยความสุภาพ ซึ่งเป็นลักษณะของ “สาธุชน”
หากการใช้คำว่า “สาธุ” มีเจตนาตามนี้ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งผิดแปลกหรือไร้ประโยชน์แต่อย่างใด