แม้ว่า “ราเซียไบ” ชายที่สวมชุดส่าหรีและมีอิทธิพลในภาพยนตร์อินเดียเรื่องคังคุไบ “Gangubai Kathiawadi” จะเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น แต่การปรากฏตัวของหญิงข้ามเพศในภาพยนตร์ที่อิงจากเรื่องจริง ทำให้ผู้ชมสงสัยว่าอาจมีเรื่องราวลึกลับซ่อนอยู่


ลูกสาวบุญธรรมของคังคุไบตัวจริงให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เธอยืนยันว่า “ไม่มีใครชื่อราเซียไบอยู่ในกามธิปุระเท่าที่เธอรู้ แต่มีความเป็นไปได้ที่หญิงข้ามเพศจะอยู่ในยุคนั้นจริง” เนื่องจากเพศที่สามในอินเดียมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1858 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษที่กินเวลานับร้อยปีกว่าจะได้รับเอกราช
เพศที่สามในอินเดียถูกเรียกว่า ฮิจรา หรือ ฮิจเราะห์ (Hijra) เป็นคำศัพท์ทางการที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง โดยหมายถึงกลุ่มขันทีที่ตัดตอนอวัยวะเพศออกจากร่างกาย ข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าในยุคอาณานิคมอังกฤษ ฮิจราถูกกีดกันจากสังคม ทำให้หลายคนต้องหาทางอยู่รอดด้วยการค้าบริการ เช่นเดียวกับราเซียไบ บางข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่าเพศที่สามอาจถูกกีดกันมาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในยุคที่ผู้นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาพุทธในอินเดียถูกกดขี่อย่างหนัก
ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดอาจเป็นยุคที่อังกฤษประกาศใช้ Criminal Tribes Act (1871) กฎหมายที่จัดกลุ่มยิปซี คนเร่ร่อน และเพศที่สามให้เป็น “ชนเผ่าอาชญากร” ในช่วงนั้น รัฐบาลมีนโยบายรุนแรงต่อกลุ่มฮิจราถึงขั้นสอดแนมชุมชนเพื่อหวัง “ล้างเผ่าพันธุ์” ให้หมดสิ้น
หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์และความเชื่อ จะพบว่าเรื่องราวของเพศที่สามในอินเดียมีมานานหลายพันปีก่อนคริสต์ศักราช พวกเขาคือกลุ่มบุคคลที่แยกตัวออกจากสังคม แต่ได้รับการยอมรับตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู
ฮิจราส่วนใหญ่มักอาศัยรวมกันเป็นชุมชนเฉพาะ มีผู้นำและกฎระเบียบที่ชัดเจน พวกเขายินดีรับเด็กที่มีจิตวิญญาณแตกต่างจากเพศกำเนิดแต่ถูกครอบครัวทอดทิ้ง อย่างไรก็ตาม มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ผู้นำชุมชนจะคัดเลือกให้ผ่านพิธี “นิรวาน” ซึ่งเป็นการกำจัดอวัยวะเพศชายเพื่อแสดงถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะฮิจราอย่างสมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องหันไปค้าบริการทางเพศ ฮิจราหลายคนหารายได้จากการเข้าร่วมงานสำคัญ เช่น งานแต่งงาน หรือพิธีแรกเกิดของเด็ก
ฮิจรามักสวมชุดส่าหรีสีสันสดใส แต่งหน้าอย่างโดดเด่นด้วยเครื่องสำอาง และประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับสีฉูดฉาด พวกเขาจะร่ายรำและอวยพรคู่บ่าวสาวหรือทารกแรกเกิด ผู้จัดงานหรือแขกผู้มาร่วมงานมักให้เงินบริจาค เพราะเชื่อกันว่าการปรากฏตัวของฮิจราสามารถปัดเป่าความชั่วร้ายได้ คำอวยพรของพวกเขาถือเป็นสิริมงคลที่นำความโชคดีและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว ในทางกลับกัน หากฮิจราแช่งใครก็ถือเป็นความอัปมงคลที่ร้ายแรง
ความเชื่อนี้มีรากฐานมายาวนาน อาจเริ่มต้นตั้งแต่ยุคที่ปรากฏในตำนาน “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ซึ่งถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช และยังคงฝังลึกในจิตใจของคนอินเดียจนถึงปัจจุบัน เนื้อหาส่วนหนึ่งในรามายณะฉบับอินเดียใต้เล่าถึงช่วงที่พระรามเดินทางไปบำเพ็ญตบะในป่า มีกลุ่มคนหนึ่งมารอส่งพระราม ก่อนจากไป พระรามสั่งให้ชายและหญิงกลับเข้าเมือง แต่เมื่อพระรามกลับมาหลังจาก 14 ปี กลุ่มคนนั้นยังคงรออยู่ที่เดิม เพราะพวกเขาไม่ใช่ทั้งชายและหญิง พระรามเห็นถึงความซื่อสัตย์และความเคารพในคำพูดของตน จึงประทานพรให้กลุ่มคนนี้มีอำนาจในการให้พรและสาปแช่ง ซึ่งถือเป็นคำพูดศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเป็นจริงเสมอ

นอกจากตำนานเทพเจ้าแล้ว ฮิจรายังเชื่อมั่นว่าตนมีเทพีผู้คุ้มครองดูแล พวกเขานับถือ “พระแม่พหุชระ” อย่างศรัทธา จนได้รับการยอมรับว่า พระแม่พหุชระ คือที่พึ่งทางจิตใจของกลุ่มเพศที่สามและผู้ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับชายหรือหญิงตามร่างกาย ในศาสนาฮินดู พระแม่พหุชระ หรือ พระแม่มาตากี เทวีอีกภาคหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เชื่อกันว่าพระแม่พหุชระถือกำเนิดจากน้ำตาของพระแม่อุมาเทวีที่หลั่งออกมาเพราะความสงสารต่อชีวิตของฮิจรา ที่ไม่ถูกจัดอยู่ในวรรณะใด ๆ บางพื้นที่ในอินเดียเชื่อว่า พระแม่พหุชระมีอำนาจในการเปลี่ยนเพศได้ นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกหลายเรื่องที่ทำให้พวกเขานับถือพระแม่พหุชระด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า
เทพเจ้าอีกองค์ที่ชาวเพศที่สามนับถือตามความเชื่อคือ “พระอรรธนารีศวร” เทพเจ้าฮินดูที่มีสองภาคในร่างเดียว ด้านขวาคือพระศิวะ และด้านซ้ายคือพระแม่อุมา มีรูปเคารพโบราณตั้งแต่ยุคจักรวรรดิกุษาณะ หรือประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปัจจุบันพบงานแกะสลักหินบนผนังเทวาลัยโบราณในอินเดียหลายแห่ง รวมถึงในประเทศไทยก็พบประติมากรรมพระอรรธนารีศวรที่มีอายุราว 1500 ปี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อในการบูชาพระศิวะและพระแม่อุมาร่วมกันในอดีต


หลังจากเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ฮิจราเริ่มได้รับความสนใจจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน พวกเขามีสิทธิพื้นฐานในสังคมอินเดียเพิ่มขึ้น ขณะที่ทั่วโลกก็เริ่มเปิดรับและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มที่ปฏิเสธและมองว่าความแตกต่างทางเพศเป็นสิ่งผิดบาป และยังมีเพศที่สามจำนวนมากที่ต้องพึ่งพางานบริการทางเพศเพื่อเลี้ยงชีพ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ตำนานความเชื่อทางศาสนาและการบูชาเทพธิดายังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวเพศที่สาม พลังศักดิ์สิทธิ์นี้ช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเองและยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเพศสภาพ พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสมบูรณ์ได้
ปัจจุบัน ฮิจรายังคงแสดงบทบาทในการร่ายรำและสร้างสีสันในงานเทศกาลต่าง ๆ ราวกับเป็นคำอวยพรที่พระรามมอบให้ในตำนานรามายณะ...
“พวกเจ้าจงเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยความสุขและรื่นเริงตลอดไป”
