ชิจิ ฟุคุจิน (七福神) หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลในญี่ปุ่นที่มีที่มาจากหลากหลายศาสนาและลัทธิ เช่น ฮินดู, พุทธ, เต๋า และชินโต เชื่อกันว่าเทพทั้งเจ็ดจะเดินทางจากสวรรค์มายังโลกด้วย ‘เรือมหาสมบัติ’ (宝船) เพื่อนำโชคลาภ ความสุข และคำอธิษฐานที่ผู้คนขอพรไปสู่ความเป็นจริง
ไม่แปลกใจเลยที่สัญลักษณ์ของเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภปรากฏในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรางในศาลเจ้า, การ์ดอวยพรวันปีใหม่, หรือสินค้าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงตัวละครจากการ์ตูนอนิเมะที่มีลักษณะหรือการแต่งตัวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทพเจ้าเหล่านี้เช่นกัน
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ว่าแต่ละองค์มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่าอะไร และความพิเศษของเทพแต่ละองค์คืออะไร? นอกจากนี้เราจะเรียนรู้จุดสังเกตที่ทำให้เราสามารถจำเทพทั้งเจ็ดได้ง่ายๆ รับรองว่าเมื่ออ่านบทความนี้จบ เพื่อนๆ จะจำจุดเด่นของเทพเจ้าแต่ละองค์ได้แน่นอน!
เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภมีรากฐานมาจากหลายศาสนาและลัทธิ เช่น พุทธศาสนา, ศาสนาฮินดู, เต๋า และชินโต โดยเชื่อว่าการได้รับโชคและความสุขจากเทพเจ้าทั้งเจ็ดนั้นจะนำมาซึ่งความสำเร็จและการบรรลุคำอธิษฐานของผู้ที่ขอพรจากเทพเจ้าเหล่านี้

ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ‘ชิจิ ฟุคุจิน’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ’ เป็นเทพเจ้าผู้มอบโชคและความสุขให้แก่ผู้ที่ขอพร ตามบันทึกประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ‘คิตะ ซาดะคิจิ’ กล่าวถึงว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งโชคลาภนี้เริ่มต้นขึ้นที่เมืองเกียวโตในช่วงปลายยุคมุโรมาจิ หรือประมาณ 500 ปีก่อน
ตามความเชื่ออีกประการหนึ่ง เทพเจ้าทั้งเจ็ดจะเดินทางจากสวรรค์บน ‘เรือมหาสมบัติ’ (宝船) ซึ่งเป็นเรือที่บรรทุกโชคลาภและวัตถุมงคลต่างๆ ในสมัยก่อน ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเรือมหาสมบัตินี้บรรทุกข้าวสารและกระสอบข้าว แต่ความเชื่อได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า เรือมหาสมบัติได้บรรทุกวัตถุมงคล เช่น ค้อนวิเศษอุจิเดะ โนะ โคซุจิ (打出の小槌), กล่องสมบัติเซ็นเรียว บาโกะ (千両箱) และซึรุคาเมะ (鶴亀) เป็นต้น
เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ‘ชิจิ ฟุคุจิน’ ประกอบไปด้วยเทพเจ้าใดบ้าง? มารู้จักกันเลย
หลังจากที่เราได้ทราบถึงที่มาคร่าว ๆ ของเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภกันไปแล้ว ต่อไปเราจะพาไปทำความรู้จักกับเทพทั้งเจ็ดองค์ โดยจะมีการแนะนำชื่อ จุดสังเกต และความพิเศษของแต่ละองค์ให้ทุกคนได้รู้จักกัน

1. เบ็นไซเท็น (弁財天)
ชื่อ: เบ็นไซเท็น
จุดสังเกต: ถือเครื่องดนตรีพิณในมือ
ความพิเศษ: เป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา, การพูด และการจับคู่ตุนาหงัน
เบ็นไซเท็นคือ“เทพเจ้าเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นผู้หญิง” ผู้เป็นเทพแห่งศิลปะการแสดงและดนตรี โดยมักปรากฏตัวในลักษณะของนางฟ้าที่สวมมงกุฎ พร้อมกับเล่นพิณ ต้นกำเนิดของท่านมาจาก ‘พระสุรัสวดี’ เทพเจ้าแห่งน้ำในความเชื่อของอินเดีย

2. บิชามอนเท็น (毘沙門天)
ชื่อ: บิชามอนเท็น
จุดสังเกต: มือขวาถือหอกสามง่าม มือซ้ายถือเจดีย์โฮโท (宝塔)
ความพิเศษ: เป็นเทพแห่งความสุข, ความมั่งคั่ง, และปกป้องจากภัยอันตราย
เทพเจ้าผู้สวมชุดเกราะและถือหอกสามง่ามเป็นอาวุธ“เป็นเทพองค์เดียวที่มีสีหน้าเกรี้ยวโกรธ” ตามตำนานอินเดียท่านเป็นหนึ่งในจตุโลกบาล หรือเทพผู้คุ้มครองทิศทั้งสี่ ท่านเป็นเทวดาประจำทิศเหนือ อีกชื่อหนึ่งของท่านคือ ท้าวเวสสุวรรณ

3. เอบิสุ (恵比寿)
ชื่อ: เอบิสุ
“เป็นเทพองค์เดียวที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นแท้” ท่านสวมชุดขุนนางจากสมัยเฮอันที่เรียกว่า คาริงินุ (狩衣) พร้อมหมวกสูงที่เรียกว่า เอะโบชิ (烏帽子) โดยมักจะพบในลักษณะที่มือข้างหนึ่งถือคันเบ็ดตกปลา และอีกข้างหนึ่งอุ้มปลาไท ซึ่งถือเป็นปลามงคลในความเชื่อญี่ปุ่น

4. ไดโคคุเท็น (大黒天)
ชื่อ: ไดโคคุเท็น
จุดสังเกต: ท่านถือค้อนวิเศษอุจิเดะ โนะ โคซุจิ (打出の小槌) และแบกถุงขนาดใหญ่ไว้ที่หลัง นั่งอยู่บนกระสอบข้าว
ความพิเศษ: เป็นเทพแห่งโชคในด้านความอุดมสมบูรณ์, ความร่ำรวย, การขจัดทุกข์โศก และการเสริมความมั่งคั่งให้แก่ลูกหลาน
ไดโคคุเท็น มีต้นกำเนิดตามความเชื่อในตำนานอินเดีย คือ “พระมหากาฬ” ปางอวตารของพระศิวะ มหาเทพแห่งการทำลาย ผู้มีสีหน้าดุร้าย น่ากลัว แต่ตามความเชื่อญี่ปุ่นโบราณนั้นมีเทพเจ้าชื่อว่า “โอคุนินุชิโนะคามิ” (大国主神) ซึ่งเทพ “โอคุนิ” (大国) และ “ไดโคคุ” (大黒) มีความคล้ายคลึงจนคนโบราณมักสับสนกัน จึงทำให้ “ไดโคคุเท็น” กลายเป็นเทพผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม อ่อนโยนในปัจจุบัน

5. โฮเท (布袋)
ชื่อ: โฮเท
จุดสังเกต: พระสงฆ์ผู้สวมเสื้อผ้าหลุดลุ่ย มีพุงใหญ่และแบกถุงขนาดใหญ่ไว้ที่ด้านหลัง
ความพิเศษ: เป็นเทพแห่งความสุขและรอยยิ้ม, ทำให้คู่สามีภรรยารักใคร่ปรองดอง
“เป็นเทพองค์เดียวที่มีการอ้างอิงจากบุคคลจริง” ตำนานของท่านมาจากพระในนิกายเซนนามว่า “ไคชิ” (契此) ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง พระไคชิคือพระสงฆ์ผู้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และแบกถุงขนาดใหญ่ที่บรรจุอาหารและข้าวของที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้าน ว่ากันว่าพระไคชิมีความสามารถในการทำนายดวงได้อย่างแม่นยำ

6. ฟุคุโระคุจู (福禄寿)
ชื่อ : ฟุคุโระคุจู หรือ ฮก ลก ซิ่ว
จุดสังเกต : เป็นเทพอาวุโสที่ถือไม้เท้าในมือหนึ่ง และม้วนกระดาษในมืออีกข้าง พร้อมเครายาวสีขาว และมักมาพร้อมกับนกกระเรียน
ความพิเศษ : เป็นเทพที่สื่อถึงอายุยืน, ความสำเร็จในหน้าที่การงาน และความมั่งคั่งของลูกหลาน
ท่านเป็นเทพอาวุโสผู้มีเครายาวสีขาวในมือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือถือม้วนกระดาษ และมักจะมาพร้อมกับนกกระเรียน ท่านมีต้นกำเนิดในความเชื่อของลัทธิเต๋า โดยเชื่อกันว่า ท่านคืออวตารของดาวคาโนปัส ซึ่งเป็นดาวขั้วฟ้าใต้ที่หาพบได้ยากในประเทศจีน และดาวนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคล ซึ่งจะปรากฏเมื่อโลกอยู่ในช่วงเวลาที่สงบสุข นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าเป็นดาวที่มีอำนาจควบคุมอายุขัยของจักรพรรดิในยุคก่อน

7. จูโรจิน (寿老人)
ชื่อ : จูโรจิน
จุดสังเกต : เป็นเทพอาวุโสที่ถือไม้เท้าที่มีม้วนกระดาษเกี่ยวอยู่ในมือหนึ่ง และอีกมือถือผลลูกท้อ พร้อมเครายาวสีขาว มักปรากฏตัวพร้อมกับกวาง
ความพิเศษ : เป็นเทพแห่งอายุยืนและการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ
เทพจูโรจินมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเทพฟุคุโระคุจู เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจริงๆ แล้ว ทั้งสองท่านมีต้นกำเนิดมาจากเทพองค์เดียวกัน โดยความแตกต่างที่ชัดเจนคือเทพจูโรจินมักจะมาพร้อมกับกวาง
ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อและนับถือเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ด ซึ่งถึงขั้นมีการจัดทัวร์ไหว้เทพทั้งเจ็ดองค์ในหนึ่งวัน คล้ายคลึงกับการเดินสายทัวร์ไหว้พระ 9 วัดตามประเพณีไทย โปรแกรมทัวร์แบบเร่งรีบจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่หากเป็นทัวร์ที่เน้นการชมศาลเจ้าและการพักผ่อน ก็อาจจะใช้เวลานานกว่าเดิมประมาณ 1.5-2 เท่า
เราหวังว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “เจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ที่เราได้นำเสนอจะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจเกี่ยวกับเทพเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีตามความเชื่อของญี่ปุ่นมากขึ้น หากใครมีโอกาสไปที่ศาลเจ้าญี่ปุ่น หรือได้พกเครื่องรางญี่ปุ่น ควรสังเกตดูว่ามีหนึ่งในเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภอยู่ในเครื่องรางนั้นหรือไม่?