บ้านที่เคยสวยงามที่สุดในอดีตของคลองสวนหมาก "บ้านพะโป้" เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น สร้างจากไม้สักทั้งหลังในสไตล์ไทยผสมตะวันตก พร้อมประดับไม้ฉลุลายละเอียดลออ เป็นบ้านของ พะโป้ คหบดีชาวพม่า ผู้ประกอบการค้าไม้ที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเขาซื้อบ้านมาจากพระยาราม และครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ. 2449 และเสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนกลายเป็นที่มาของชื่อ บ้านห้าง ร.5

ตามประวัติระบุว่า มองสุภอ หรือ พระยาตะก่า พี่ชายพะโป้ ได้เข้ามาขอเช่าพื้นที่เพื่อทำการค้าไม้จากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2418 จนถึงปี พ.ศ. 2418 เมื่อเขาได้เสียชีวิตไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 พะโป้เริ่มทำธุรกิจค้าไม้โดยสร้างบ้านที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเป็นทำเลที่สะดวกในการขนส่งไม้จากป่าไปยังเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่สำคัญในภาคเหนือตอนล่าง
ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา พะโป้และพระยาตะก่า (พี่ชาย) ได้ร่วมกัน บูรณะองค์พระเจดีย์และยกยอดฉัตร วัดพระบรมธาตุเจดียาราม ที่นครชุม ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ใกล้กับวัดสว่างอารมณ์ ผู้ที่เคยชมภาพยนตร์ เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ซึ่งเป็นวรรณกรรมอมตะและภาพยนตร์โศกนาฏกรรมรักอันโด่งดัง จะรู้จักโศกนาฏกรรมรักระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวที่เชื่อว่ารักกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย "พะโป้" คือหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทในนวนิยายชื่อดังที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น ชั่วฟ้าดินสลาย

เรื่องราวของคหบดี พะโป้ นายห้างค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงผู้มาทำธุรกิจในเมืองกำแพงเพชร เขาได้พบรักกับยุพดี หญิงสาวสวยและพาเธอมาพำนักที่กำแพงเพชร พะโป้มีหลานชายชื่อ ส่างหมอง หนุ่มหล่อ ต่อมา ยุพดีกับส่างหมองเกิดรักใคร่กันจนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง จนพะโป้จับได้และใส่โซ่ตรวนทั้งสองให้ใช้ชีวิตร่วมกัน จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่าสลด
ก่อนหน้านี้หลายคนอาจเข้าใจว่า ชั่วฟ้าดินสลาย อาจเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดย มาลัย ชูพิจิ โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ทว่าพะโป้กลับมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เขาคือคหบดีชาวกะเหรี่ยงที่ได้เข้ามาทำการค้าไม้ที่นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในชีวิตจริงพะโป้มีคู่ชีวิตชื่อแม่ทองย้อย ลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านคลองสวนหมาก มีบุตรทั้งหมด 4 คน ซึ่งกลายเป็นต้นตระกูลของ “รัตนบรรพต” ตามหลักฐานในพระราชหัตเลขาของรัชกาลที่ 5 ยังทรงบันทึกไว้อีกด้วย
“เมียเป็นไทย ชื่อว่าอำแดงท่องย้อยเป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันแลอำแดงไท ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น ได้ขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน 2 บ้านนี้”

พะโป้เสียชีวิตในช่วงรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2460) หลังจากนั้นกิจการค้าขายไม้ของเขาก็ถูกดูแลโดยบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง (ไม่มีการระบุชื่อ) จนกระทั่งไม้หมด บริษัทจึงปิดกิจการ และบ้านห้างก็ถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน การทำไม้ได้ตกไปอยู่กับบริษัทการทำไม้ใหญ่ แต่เรื่องราวของพะโป้ยังคงได้รับการเล่าขานในชุมชนเมืองนครชุม ปัจจุบันบ้านพะโป้ทรุดโทรมไปมาก แม้จะยังคงรูปแบบเป็นบ้านโบราณ แต่ไม้ก็เริ่มผุพัง จะเห็นป้ายที่เขียนว่า “ห้ามขึ้นบนบ้าน” แม้จะเป็นทรัพย์สินของนายทุนจากพื้นที่อื่น แต่ชาวบ้านยังคงดูแลรักษาตามสภาพ ปลูกดอกไม้ ตัดหญ้า เพราะที่นี่คือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนนครชุม และชาวบ้านที่นี่รู้จักกันในชื่อ “บ้านห้าง ร. 5”
ข้อมูลจาก : ฆรณี แสงรุจิ. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2536