หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ซีสต์” หรือถุงน้ำ ซึ่งผู้หญิงหลายคนก็อาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับซีสต์ในร่างกายมาบ้างแล้ว
เดอร์มอยด์ ซีสต์ (Dermoid Cyst) หรือ โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ เกิดจากเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เช่น ไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน หรือฟัน โดยเกิดในรังไข่ของผู้หญิงตั้งแต่เกิด และพัฒนาขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้นให้เจริญเติบโตเป็นถุงน้ำในรังไข่
พญ.รุ่งทิวา กมลเดชเดชา สูตินรีแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าถุงน้ำเดอร์มอยด์เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะในวัย 10-30 ปี ซึ่งพบได้ถึง 20-25% ของโรคถุงน้ำรังไข่ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็งและไม่แสดงอาการใดๆ

“โรคนี้ไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำแตก รั่ว หรือบิดขั้ว” พญ.รุ่งทิวาอธิบาย พร้อมเสริมว่า หากปล่อยให้อาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนรังไข่ขาดเลือด อาจทำให้รังไข่เน่าและจำเป็นต้องตัดทิ้งในที่สุด
สูตินรีแพทย์ในสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่าภาวะแทรกซ้อนจากโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์มีหลายประเภท โดยที่พบได้บ่อยที่สุดคือภาวะบิดขั้ว (Torsion) ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยข้างซ้ายหรือขวา กดเจ็บที่ท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน รังไข่ข้างนั้นจะขาดเลือดและอาจเน่า ทำให้จำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นออกในที่สุด
คุณหมอรุ่งทิวาอธิบายเพิ่มเติมว่าอีกภาวะแทรกซ้อนหนึ่งคือการแตกหรือรั่ว (Rupture or Leakage) ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคถุงน้ำรังไข่ทุกชนิดรวมถึงโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยทันที ปวดตลอดเวลา และหากมีเลือดออกในช่องท้องมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้

ภาวะแทรกซ้อนอีกชนิดคือการติดเชื้อ (Infection) แม้จะไม่พบบ่อยนัก แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงและปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ส่วนภาวะสุดท้ายที่เกิดขึ้นได้คือมะเร็ง (Cancer)
แม้ว่าถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้ประมาณ 1% และไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น มะเร็งประเภทนี้สามารถพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยได้ การตรวจที่สามารถยืนยันได้คือการผ่าตัดเท่านั้น เพราะการอัลตราซาวนด์ไม่สามารถบอกได้ว่าเซลล์มะเร็งมีอยู่หรือไม่
สำหรับการรักษาโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ สูตินรีแพทย์กล่าวว่า วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด เนื่องจากไม่สามารถลดขนาดของถุงน้ำได้ด้วยยา หรือฮอร์โมน ต่างจากภาวะช็อกโกแลตซีสต์ที่สามารถตอบสนองการรักษาด้วยยาฮอร์โมนได้
คุณหมอรุ่งทิวาได้อธิบายถึงวิธีการผ่าตัดรักษาโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ที่มีหลายวิธี โดยเริ่มจากการผ่าตัดเพื่อเลาะถุงน้ำ (Ovarian Cystectomy) ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่ถุงน้ำยังไม่ใหญ่จนเกิดการบิดขั้วของรังไข่และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ การตรวจพบถุงน้ำในขนาดเล็กจะทำให้การผ่าตัดสะดวกและปลอดภัยกว่าการรอให้ถุงน้ำโตขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยยังอายุน้อยและต้องการมีบุตรในอนาคต

การผ่าตัดรังไข่ข้างที่มีปัญหา (Unilateral Oophorectomy) จะถูกใช้ในกรณีที่รังไข่เกิดการบิดขั้วและขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานาน หรือเมื่อถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถรักษาได้ และรังไข่ข้างที่เหลืออยู่ในสภาพดี โดยการเหลือรังไข่ข้างเดียวก็เพียงพอสำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นอาจต้องตรวจสอบหามะเร็งเพิ่มเติม
การผ่าตัดรักษาโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์นั้นสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบไม่เปิดหน้าท้อง แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน การผ่าตัดแบบ Minimal Invasive Surgery หรือ MIS ที่ใช้การผ่าตัดผ่านกล้องได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยและแม่นยำสูงกว่า
ข้อดีของการผ่าตัดแบบ MIS คือ แผลจะมีขนาดเล็กเพียง 5-10 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การผ่าตัดแบบนี้ยังช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ และการเกิดพังผืดในช่องท้องเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดและผลการตรวจชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดจะไม่พบมะเร็ง แต่ก็ยังมีโอกาสประมาณ 10% ที่ถุงน้ำเดอร์มอยด์จะเกิดขึ้นซ้ำในรังไข่อีกข้างหลังจากการผ่าตัดรักษาไปแล้ว
คุณหมอรุ่งทิวาแนะนำว่า การตรวจสุขภาพเป็นประจำปีโดยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะในการตรวจมดลูกและรังไข่ เพราะหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจต้องทำการตัดรังไข่ ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ การผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด
