
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กำลังเป็นที่จับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ นักเขียนและผู้กำกับที่เคยพาเราเดินทางสู่โลกของภาพถ่ายอนาล็อกใน 36 ก่อนจะตามมาด้วยภาพยนตร์ที่ทำให้เด็กฮิปสเตอร์ได้เฮกันใน
Mary is Happy, Mary is Happy และภาพยนตร์สารคดีย้อนยุคที่ตามหาพี่แว่นในตำนานอย่าง The Master วันนี้เขาก้าวสู่การทำงานที่ท้าทายมากขึ้นในภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์... ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ซึ่งผลิตโดยบริษัทที่ทำแต่หนังที่น่าสนใจอย่าง GTH
หลายคนบอกว่าโครงเรื่องของฟรีแลนซ์... ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ มาจากชีวิตของคุณเอง
ผมเคยทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาก่อน และยังคงทำอยู่ (หัวเราะ) งานที่ทำหนักจนต้องล้มป่วยบ่อยๆ อีกทั้งสองสามปีที่ผ่านมา หนังที่ทำออกมาเป็นเรื่องวัยรุ่นซะส่วนใหญ่ จึงอยากขยับเนื้อหามาที่โตขึ้น เลยเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของคนวัยสามสิบที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ และประสบกับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะพบหมอที่มีอายุสูง และคิดว่าเจอหมอที่อายุใกล้ๆ กันก็น่าจะสร้างความสนุกในเรื่องนี้ได้
จากการทำหนังขนาดเล็กมานาน ต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อลงมาทำงานกับค่ายใหญ่ GTH
เมื่อได้รับการติดต่อ เขาบอกว่าแต่ก่อนทำหนังอย่างไรก็ทำไปแบบนั้น ไม่มีความกดดันอะไรในการทำงาน หนังที่ผ่านมาก็ไม่ได้ซับซ้อนมาก เพียงแค่มีการทดลองอะไรบางอย่างในหนัง แต่คนดูยังเข้าใจได้อยู่ (หัวเราะ) ก็เลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก
ในเรื่องนี้จะมีการทดลองอะไรพิเศษใส่ลงไปในหนังบ้างไหม?
ยังมีอยู่บ้าง แต่มันไม่เกี่ยวกับฟอร์แมตหนังโดยตรง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการทำงานกับนักแสดงมากกว่า หนังเรื่องนี้ผมตั้งใจทำเป็นหนังรักสไตล์สารคดี ผู้ชมอาจจะไม่เคยเห็นการแสดงของซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ในลุคนี้ หรือการแสดงของ ใหม่-ดาวิกา ที่ผมให้เธอแสดงในโหมดที่ต่างออกไป ด้วยการพูดในลักษณะลองเทค หรือพูดไปเรื่อยๆ ที่บางครั้งก็สวนทางกับซันนี่ เธอทำได้ดีมาก จนทำให้เราทึ่งเพราะเธอมีความสามารถนี้ที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ ที่สำคัญคือในเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำอะไรหวือหวาหรือถ่ายภาพในลักษณะแปลกๆ เลย (หัวเราะ)
คงมีคนแซวว่าเต๋อ-นวพลกำลังทำหนังที่เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างแล้วใช่ไหม?
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการเข้าถึงคนดูมากกว่า หนังจะเป็นหนังที่ได้รับความนิยมไม่ได้เลย ถ้าเรายังเข้าถึงแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ผมยังทำงานที่มีความสุดโต่ง อย่างการใช้ทวิตเตอร์ทำ Mary is Happy, Mary is Happy หรือแม้แต่ทำมิวสิกวิดีโอเพลง 'นักเลงคีย์บอร์ด' ของแสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข) ผมก็ทำ ถ้าจะมีการปรับตัวคงเป็นแค่การทำให้ฉากแต่ละฉากสื่อสารกับผู้ชมได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องคิดว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่เลย
ความสำเร็จที่ GTH เคยมี ทำให้หลายคนมองว่าหนังจากค่ายนี้จะมีรูปแบบเดียวกันหมด
เรื่องนี้พูดยาก เพราะจากที่รู้จักพี่ๆ ใน GTH ผมเห็นว่าผู้กำกับแต่ละคนก็จะมีสไตล์ของตัวเองที่สอดคล้องกับหนังของเขา ผมไม่เคยคิดว่าเขาจะทำหนังให้เป็นที่นิยมมากขึ้นหรือเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น อย่างพี่เมษ-ธราธร ก็ทำหนังแบบ ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ อยู่แล้ว ส่วนพี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล) ก็ทำหนังแบบ พี่มาก...พระโขนง หนังของผมก็มีรสนิยมเฉพาะตัวของผมเช่นกัน และคงไม่ได้ออกมาเหมือนใคร
คุณคิดอย่างไรกับความเห็นที่ว่า หนังไทยที่ไม่มีโลโก้ GTH มักจะล้มเหลวทางด้านรายได้
หนังของผมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ (หัวเราะ) เป็นคำตอบที่ยาก เพราะผมไม่เคยทำงานกับสตูดิโออื่นๆ การเป็นส่วนหนึ่งของ GTH ก็ไม่ได้รับประกันว่าหนังจะประสบความสำเร็จเสมอไป อาจจะเป็นไปได้ว่าหนังของผมจะกลายเป็นหนังที่ทำรายได้น้อยที่สุดของ GTH ก็ได้ แต่จากที่เห็น ทีมงาน GTH ทำงานอย่างเข้มข้นไม่ให้ฉากไหนผ่านไปง่ายๆ ข้อดีคือ ความยากในการทำหนังนี้เป็นไปตามหลักการของภาพยนตร์ เขาไม่เคยบังคับให้ผมทำหนังให้เป็นที่นิยม แต่ถ้าผมต้องถ่ายหนังที่มีเสียง Voice Over ของตัวละคร ภาพแค่แบบนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องมีการเพิ่มอะไรเข้าไปอีกเพื่อให้คนดูเข้าใจ ซึ่งเป็นหลักการที่เข้มงวดของการทำภาพยนตร์
หนังที่หลายคนมองว่าห่วยแตก สำหรับคุณคิดว่าเรื่องนี้ยังมีความสำคัญกับโลกใบนี้อยู่ไหม
หนังที่แย่สำหรับคนคนหนึ่ง อาจจะดีสำหรับอีกคนก็ได้ เหมือนเวลาเราเปิดเจอรายการตลกโปกฮาในทีวี เราก็แบบทำไมมันตลกโฉ่งฉ่างแบบนี้ แต่วันหนึ่งเรากลับบ้านมาด้วยอาการเหนื่อย เครียด พอได้นั่งดูรายการตลกที่ว่านี้ใหม่ เรากลับฮา เรากลับชอบ แบบว่าตอนนี้กูไม่ต้องการสาระอะไรทั้งนั้นแล้ว (หัวเราะ) สำหรับผมหนังดีหรือไม่ดี มันเลื่อนไหลไปได้ตามเวลาและสถานที่
อะไรคือปัญหาที่หนังอินดี้ยังถูกมองข้ามอยู่บ่อยๆ
คงเป็นความเชื่อเก่าๆ ผิดๆ ที่ฝังมานาน แต่ตอนนี้ทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้นมาก มีคนไปดู Boyhood ดู Birdman หรือ Whiplash กันเยอะ แค่ไม่ได้เป็นปริมาณที่เราร้องโอ้โห! เท่านั้น เราเห็นว่าดีขึ้นเพราะเราเป็นคนที่อยู่ในสภาพของหนังอินดี้เมื่อสิบปีก่อน เรารู้ว่าตอนนั้นบรรยากาศรอบข้างของหนังอินดี้เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้คนดูเปิดใจมากขึ้น มีโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังนอกกระแสมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนกว่าจะได้ดูหนังอินดี้ก็ต้องรอดูจากเทศกาลภาพยนตร์ที่เขาจัดขึ้นมาเท่านั้น
มีวิธีช่วยให้วงการหนังอินดี้เติบโตขึ้นได้เร็วขึ้นบ้างไหม
คงต้องลบภาพให้ได้ก่อนว่าหนังอินดี้ดูยาก สมัยก่อนคนอาจจะไปดูหนังของนักศึกษา หรือหนังทดลองเสียเยอะ ซึ่งหนังพวกนี้มีการลองผิดลองถูก แล้วก็ไปจำว่าหนังอินดี้คือแบบนี้ ตอนที่ผมทำเรื่อง 36 ผมก็คิดว่าตัวเองกำลังทำหนังเรื่องหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าเป็นหนังนอกกระแส คุณสมบัติในการทำหนังสมมุติว่ามี 5 ข้อ ผมก็ทำตามนี้ คุณว่างก็มาดูกัน ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ดูแล้วไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ด่าผมได้ (หัวเราะ) เวลาดูหนังอินดี้คนมักจะกลัวถ้าบอกว่าไม่ชอบหรือดูไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวเขาจะหาว่าโง่ แต่ถ้าผมดูหนังแล้วไม่ชอบก็บอกเลยว่าไม่ชอบ ไม่กลัวว่าใครจะบอกว่าไม่เท่
ถ้าเกิดหนังเรื่องนี้ทำรายได้ถึงร้อยล้าน คุณจะกลับไปทำหนังอินดี้อีกไหม
ไม่ว่าจะได้ร้อยล้านหรือไม่ ผมก็จะยังทำงานในแบบของตัวเองต่อไป ไม่มีทางที่จะบอกว่า ถ้าประสบความสำเร็จแล้วจะไม่ทำหนังอินดี้แล้ว เพราะหลังจากงานนี้ผมยังมีโปรเจกต์ทำหนังสั้นให้กับประเทศสิงคโปร์ และยังมีงานเล็กๆ ที่เราเองก็สนุกกับมันรออยู่ ส่วนหนังยาวยังไม่แน่ใจ เพราะบางเรื่องก็เหมาะกับการทำหนังสเกลเล็กๆ แบบ 36 แต่ถ้า GTH ต้องการให้ผมทำงานร่วมกันต่อ ผมก็ยินดีที่จะทำ (หัวเราะ)
ที่มา : GQ Thailand
http://www.gqthailand.com/