
การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังจากมุมมองด้านหน้า สามารถแยกได้เป็นห้ารูปแบบ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่, ทรงเจดีย์, ฐานแซม, เกศบัวตูม และปรกโพธิ์ แต่หากพลิกไปดูด้านหลังจะไม่มีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน
“ตรียัมปวาย” ได้กล่าวไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จฯ ว่า
ด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆังมักจะมีพื้นที่ราบเรียบกว้าง ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ไม่มีองค์ประกอบของมูลสูตรสัญลักษณ์ทางพิมพ์ทรง มักพบร่องรอยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการยุบตัวของวัสดุปูนปั้น ที่เปลี่ยนจากของเหลวเป็นของแข็ง บวกกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมบางประการ
รอยธรรมชาติที่ปรากฏในด้านหลังนั้นไม่สามารถกำหนดรูปแบบให้ชัดเจนได้ แต่สามารถเป็นเครื่องมือในการพิจารณาทางทรรศนียะอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกล่าวได้ว่า การพิจารณารอยธรรมชาติที่ด้านหลังสามารถช่วยให้การตัดสินข้อเท็จจริงได้แม่นยำกว่าการพิจารณาจากด้านหน้า
เนื่องจากด้านหลังที่เรียบง่ายและปราศจากลวดลายทางพิมพ์ทรง ทำให้ไม่สามารถปลอมแปลงได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มมิจฉาชีพ
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง
ริ้วรอยธรรมชาติที่ด้านหลังของพระสมเด็จวัดระฆัง ได้รับการจำแนกและอธิบายโดย “ตรียัมปวาย” ไว้ใน 8 ลักษณะ ได้แก่ รูพรุนปลายเข็ม, รอยปูไต่, รอยหนอนด้น, รอยย่นตะไคร่น้ำหรือฟองเต้าหู้, รอยกาบหมาก, รอยสังขยา, รอยลายนิ้วมือ และรอยริ้วระแหง
ริ้วรอยเหล่านี้อาจมีลักษณะและความชัดเจนแตกต่างกันไป บางครั้งปรากฏเพียงหนึ่งลักษณะ บางครั้งปรากฏหลายลักษณะรวมกัน หรือในบางกรณี ด้านหลังอาจดูเรียบไร้ริ้วรอยธรรมชาติที่สามารถสังเกตเห็นได้
หากพบสัญลักษณ์ใดๆ ครูตรียัมปวายได้เตือนให้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยพิจารณาจากเหตุผลที่เพียงพอว่าเป็นริ้วรอยที่เกิดจากธรรมชาติจริงหรือไม่
เพราะของปลอมบางชนิด ก็อาจมีริ้วรอยเหล่านี้ได้ เช่นรูพรุนปลายเข็ม และริ้วระแหง ย่อมเกิดขึ้นได้จากของปลอมเช่นเดียวกัน หากพบลักษณะชัดเจนเพียงใด ก็ต้องพิจารณาให้แยบคายมากขึ้นเพียงนั้น
ทำความเข้าใจกับริ้วรอยธรรมชาติด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆังทั้ง 8 รูปแบบได้แล้ว
ดูภาพด้านหลังพระสมเด็จฯ องค์ที่ตั้งชื่อว่า วัดระฆังหลังกระดาน องค์ในคอลัมน์วันนี้ ก็จะไม่พบในจำนวน 8 ข้อ ก็ต้องทำความเข้าใจกันไว้เลย...ว่า “หลังกระดาน” แบบนี้ อยู่ในแบบเดียวกับ “หลังกาบหมาก” นั่นเอง
ดูแถบบนด้านหลัง รอยบั้งเล็กทางขวาง ค่อยๆใหญ่ขึ้นๆ จนเกือบกึ่งกลาง นี่คือลักษณะของหลังกาบหมาก พ้นหลุมร่องแบ่ง จึงจะถึงพื้นที่บั้งขวางใหญ่ดูเหมือนแผ่นกระดาน แผ่นที่หนึ่ง
จากนั้นก็ถึงริ้วรอยเล็กๆที่เห็นเป็นแนวขวางเหมือนรอยกาบหมากอีก แล้วจึงถึง “แผ่นกระดาน” แผ่นที่สอง
มองโดยรวมจากด้านหลังจะเห็นแผ่นสองแผ่นที่มีลักษณะคล้ายกระดาน ตามมาด้วยริ้วรอยที่ละเอียดเหมือนกาบหมากที่เรียงสลับกันไป
ด้านหลังที่มีส่วนผสมของกาบหมากและแผ่นกระดานที่เข้ากันได้อย่างลงตัว ถือเป็นลักษณะที่ครูตรียัมปวายกล่าวถึงด้วยความชื่นชมว่าเป็นแบบที่หายากที่สุด คล้ายกับพระเครื่องโบราณที่มีลักษณะ “กำแพงซุ้มกอ”
ถือเป็นแบบที่มีความสำคัญที่สุด
ครูตรียัมปวายได้เขียนไว้ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2522 ว่า “ไม่พบในของปลอม”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีของปลอมมากมาย ซึ่งมีริ้วที่เป็นกาบหมากหรือแผ่นกระดานที่แข็งและทื่อ แตกต่างจากด้านหลังของแท้ที่มีความนุ่มนวลและมีริ้วรอยยุบแยกตามธรรมชาติ
วันนี้ ขอนำวิชาจากครูตรียัมปวาย มาเรียนรู้เกี่ยวกับหลังสังขยา หลังกระดาน พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ซึ่งจะเข้าใจลึกซึ้งขึ้นในอนาคต
ส่วนด้านหน้า แม่พิมพ์ใหญ่ที่มีลักษณะเด่นที่คุ้นเคย ผิวสัมผัสเนื้อหนึกนุ่มตามธรรมชาติของพระสมเด็จฯแท้ ซึ่งทุกท่านสามารถสังเกตและลองวิเคราะห์ด้วยสายตาของตัวเอง
พลายชุมพล