การจับลูกเรอ ช่วยให้คุณแม่สามารถ อุ้มเรอ ให้ถูกท่า ป้องกันไม่ให้ลูกแหวะนม... นอกจากการเตรียมของใช้สำหรับคลอดแล้ว คุณแม่มือใหม่ยังต้องเรียนรู้วิธีการดูแลทารก เช่น การอาบน้ำให้ทารก พาเด็กเข้าเต้า และวิธีจับเรอ ที่โรงพยาบาลจะมีการสอนขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ไว้ เนื่องจากการดูดนมจะทำให้ทารกกลืนลมเข้าไปในท้อง เมื่อทารกนอนหงาย น้ำนมก็จะไหลออกมาเลอะเสื้อผ้าและร่างกายของเขา
การอุ้มเรอช่วยให้เด็กสบายตัว

4 วิธีในการอุ้มทารกเพื่อจับเรอ
การอุ้มทารกเพื่อจับเรอนั้นมีหลากหลายท่าที่คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับใช้ตามความเหมาะสมของร่างกายทารกแต่ละคน ก่อนการอุ้มเรอ ควรเตรียมผ้าอ้อมรองไว้ที่คางเพื่อป้องกันน้ำนมเลอะ
1. ท่านั่งตักสำหรับอุ้มเรอ
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ท่านั่งตักในการจับเรอได้ตั้งแต่แรกเกิด ท่านี้เป็นท่าพื้นฐานที่ค่อนข้างทำได้ง่ายและสะดวก
วิธีอุ้มทารกในท่านั่งตัก
1.1) คุณพ่อหรือคุณแม่ควรนั่งตัวตรง ขาชิดกัน
1.2) ใช้มือข้างหนึ่งทำท่าคล้องเป็นตัว C และวางผ้าอ้อมรองที่คางของทารก
1.3) สามารถห่อตัวทารกหรือไม่ห่อก็ได้ จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งประคองที่คางของเด็ก
1.4) ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังของทารก โดยสามารถลูบขึ้นหรือลูบลงได้ตามสะดวก
2. การอุ้มเรอท่านั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
ท่าที่สามารถใช้จับเรอทารกอีกท่าหนึ่งคือ ท่านั่งโน้มตัวไปข้างหน้า ซึ่งเหมาะกับทารกทุกสรีระและสะดวกในการประคองตัวเด็ก
วิธีการอุ้มเรอท่านั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
2.1) คุณพ่อหรือคุณแม่ควรนั่งหลังตรง ขาชิดกัน
2.2) ใช้มือข้างหนึ่งทำท่าคล้องเป็นตัว C และวางผ้าอ้อมรองที่คางของทารก
2.3) วางทารกแนบลำตัวของเรา โดยให้คางของทารกวางอยู่ที่มือที่ทำเป็นตัว C และโน้มตัวเด็กไปข้างหน้า
2.4) ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังของทารก โดยสามารถลูบขึ้นหรือลูบลงได้

3. การอุ้มเรอโน้มเข้าหาตัว
ท่านี้เหมาะกับทารกแรกเกิดหรือเด็กที่สามารถเรอได้ดีแล้ว รวมถึงคุณแม่ที่ไม่สะดวกในการลุกนั่ง ช่วยให้คุณแม่สามารถพักผ่อนได้ระหว่างให้นม แต่ไม่เหมาะสำหรับทารกที่ยังไม่สามารถเรอได้
วิธีการอุ้มเรอท่าโน้มเข้าหาตัว
3.1) คุณพ่อหรือคุณแม่ควรนอนหรือนั่งพิงที่นอนที่มีพนักพิง หรือเก้าอี้ที่สามารถปรับพนักพิงได้
3.2) วางผ้าอ้อมไว้ที่อก
3.3) วางทารกแนบลำตัว หันหน้าเข้าและรองผ้าอ้อม
3.4) ลูบหลังของทารก ลูบขึ้นหรือลูบลง โดยอาจใช้เวลานานกว่าท่าอุ้มอื่นๆ
4. การอุ้มเรอพาดบ่า
การอุ้มเรอพาดบ่าเป็นท่าพื้นฐานที่เหมาะสำหรับทารกที่มีน้ำหนัก กิโลกรัมขึ้นไป หรือทารกที่มีอายุ 1 เดือนขึ้นไป เพราะต้องประคองให้มั่นคง ป้องกันการอุ้มหลุดมือ ท่านี้เหมาะสำหรับทารกทุกช่วงวัยในการช่วยไล่ลม
วิธีการอุ้มเรอท่าพาดบ่า
4.1) วางผ้าอ้อมบนไหล่ข้างที่ถนัด
4.2) ยกทารกให้พาดบ่า โดยให้หน้าอกของทารกอยู่บนไหล่
4.3) ลูบหลังของทารก ลูบขึ้นหรือลูบลง
4.4) หลีกเลี่ยงการเดินขย่ม เนื่องจากอาจทำให้ทารกหลุดมือได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจับทารกเพื่ออุ้มเรอ

จับลูกเรอควรลูบขึ้นหรือลูบลง?
หลังจากที่ทารกดูดนมแล้ว การจับเรอสามารถลูบขึ้นหรือลูบลงได้ แต่ต้องทำไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้ลมออกทางเดียว
อุ้มเรอควรใช้เวลานานเท่าไหร่?
การเรอของเด็กแต่ละคนอาจใช้เวลานานหรือสั้นต่างกัน บางครั้งอาจแค่ลูบเบาๆ ก็สามารถเรอได้ทันที แต่บางครั้งถ้ารอนานเกินไปจนทารกเริ่มดิ้นหรือดูอ่อนล้า การเปลี่ยนท่าในการอุ้มเพื่อช่วยเรออาจจะเหมาะสมกว่า
ท่าที่เหมาะสมในการจับเรอทารกคือแบบไหน
คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเลือกท่าจับเรอทารกทุกท่า ขอแค่เลือกท่าที่ทำให้รู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัยกับลูก การล็อกคอหรือรองคางจะต้องระวังให้ดีเพื่อไม่ให้บีบช่องทางหายใจจนลูกหายใจไม่สะดวก และการอุ้มทารกพาดบ่าก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ลื่นที่อาจเสี่ยงทำให้เด็กหลุดมือได้
จำเป็นต้องจับเรอหลังลูกหลับจากการดื่มนมไหม
ไม่ว่าจะท่าที่ลูกดื่มนมเสร็จในท่าไหน การจับเรอหลังจากนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากไม่จับเรอ อาจทำให้น้ำนมที่ลูกดื่มมาออกมาเลอะโดยไม่รู้ตัว
ลูกควรจับเรอตั้งแต่อายุเท่าไหร่
ทารกแรกเกิดจนถึงเด็กที่ยังดื่มนมอยู่จำเป็นต้องจับเรอทุกครั้ง เด็กที่เริ่มทานอาหารบดในช่วงอายุประมาณ 7-12 เดือนจะสามารถเรอได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องช่วยจับแล้ว
ทำไมบางครั้งลูกอุ้มเรอแล้วไม่เรอ
แม้จะอุ้มเรอทุกครั้ง แต่บางครั้งลูกอาจไม่เรอ บางครั้งลูกอาจปล่อยลมทางท้องหรือท้องตด แต่ไม่จำเป็นต้องเรอออกมาเสมอไป
การอุ้มเรอมีความสำคัญเพื่อป้องกันการแหวะนมและช่วยไล่ลมในท้องของเด็กทารก หากไม่จับเรอและปล่อยให้ลูกนอนหลังดื่มนม อาจทำให้เกิดการเลอะเทอะ ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและผ้าปูเตียง ดังนั้นหลังจากการดื่มนมทุกครั้ง แม้ลูกจะหลับคาเต้าก็ควรจับเรอเสมอ
คุณสามารถดูผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการป้อนนมสำหรับแม่และเด็กได้ที่นี่