พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของ มร.อึ๊ง ก๊อก เส็ง.
สนามพระวิภาวดีเปิดขึ้น พร้อมคำสอนง่ายๆจาก พระไพศาล วิสาโล ที่ว่า “การทำดีนั้นดีอยู่แล้ว แต่ไม่ควรยึดติดว่าเราเป็นคนดี”--เห็นด้วยกับท่าน เพราะการจะบอกว่าเราเป็นคนดี ควรให้คนอื่นพูดหลังจากได้เห็นการกระทำหรือความคิดที่ดีงาม และชื่นชม--ไม่ใช่การพูดเองเออเอง ตามนิสัยมนุษย์ที่มักเข้าข้างตัวเอง
ในเวทีพระอาทิตย์นี้ ซึ่งตรงกับวันโลกไม่ลืม คือ ๙/๑๑ (ไนน์อีเลฟเว่น) เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๑ ที่กลุ่มก่อการร้ายของ บิน ลาดิน จี้เครื่องบิน ๒ ลำ พุ่งชนตึกแฝด เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก จนพังถล่มลงมา สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก ส่วนอีกลำพุ่งชนตึกเพนตากอน
ขอเชิญชวนแฟนคลับสนามพระวิภาวดี ร่วมกันแผ่เมตตาและส่งกุศลจิตให้กับดวงวิญญาณผู้บริสุทธิ์กว่า ๓ พันดวง ที่จากไป แม้เวลาจะผ่านมา ๒๑ ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ยังคงสร้างความเศร้าและสะเทือนใจทุกครั้งที่รำลึกถึง
ไปชมพระเครื่องกันต่อ องค์แรกคือ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๐๖ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้คนขณะพายเรือออกบิณฑบาตในคลองบางกอกน้อย
วิธีการสร้างพระของท่าน เริ่มจากการเขียนลบ ผงวิเศษพุทธคุณ ๕ ประการ ได้แก่ พุทธคุณ อิทธิเจ มหาราช ปถมัง ตรีนิสิงเห นำมาผสมกับผงปูนที่ได้จากเปลือกหอยบดละเอียด และมวลสารมงคลอื่นๆ จากนั้นใช้ น้ำผึ้ง เนื้อกล้วย และน้ำมันตังอิ๊ว เป็นตัวประสาน นวดจนส่วนผสมเข้ากันดี แล้วปั้นเป็นก้อนพอเหมาะกับพิมพ์ กดลงในพิมพ์ที่ช่างหลวงแกะไว้ ได้ออกมาเป็นองค์พระพิมพ์เนื้อผง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ชิ้นฟัก) ตัดขอบ
ด้านหน้าเป็นองค์พระประธาน ประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้วโค้งมน แบบเส้นหวายผ่า ส่วนด้านหลังเรียบเนียน
สามารถแบ่งพิมพ์ตามรายละเอียดที่แตกต่างกันได้ ๕ พิมพ์ ได้แก่ ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์เจดีย์ ๓.พิมพ์เกศบัวตูม ๔.พิมพ์ฐานแซม
และพิมพ์ปรกโพธิ์ ซึ่งพบได้น้อยมากจนเกือบสูญหาย จึงเหลือเพียง ๔ พิมพ์หลัก รวมถึงพิมพ์ฐานแซม แบบองค์นี้ ของ เสี่ยอึ๊ง ก๊อก เส็ง ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน หาได้ง่ายและราคาไม่สูงนัก จึงเป็นพิมพ์ที่ซื้อขายได้สะดวก
โดยเฉพาะองค์ที่สภาพสมบูรณ์สวยงาม พิมพ์พระชัดเจน ผิวเนื้อผ่านการสัมผัสใช้งาน มีคราบไคลที่บ่งบอกอายุความเก่าแก่ดูขลังอย่างเป็นธรรมชาติ เนื้อมวลสารแน่นหนา เนื้อจัดทั้งหน้า หลัง ข้าง และขอบ ส่องเห็นจุดตำหนิที่ถูกต้องตามมาตรฐาน--ที่สำคัญคือ ราคายังอยู่ในระดับหลักล้านกลางถึงปลาย ทำให้จ่ายได้สบายๆ

องค์ที่สองคือ พระรอด พิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมลำดับที่ ๓ ในสกุลพระรอด องค์นี้มีสภาพสมบูรณ์สวยงามตามเดิม พิมพ์ชัดเจน เนื้อหามวลสารดี ผิวเนื้อมีคราบฝ้ารากรุที่จับแน่น แสดงถึงอายุความเก่าแก่ที่แท้จริง ดูแล้วสบายตาและสบายใจ
ปัจจุบันมีผู้สนใจมาก เนื่องจากพิมพ์ต้นๆนั้นหายากและราคาสูงมาก จึงหันมาสนใจพิมพ์รองที่มีสภาพสวยงามและราคายังพอจับต้องได้ เช่น องค์นี้ ของ เสี่ยเบิ้ม นครพิงค์อาร์ต ที่มีราคาประมาณหลักล้านต้นๆ

ต่อไปคือพระกรุเก่าที่ได้รับความนิยมสูงสุด อันดับ ๑ ของเมืองลำปาง พระยอดขุนพลเกศยาว กรุสันป่าเปา จ.ลำปาง โดยเฉพาะพิมพ์เกศยาว
พบทั้งเนื้อชินเงินและเนื้อชินตะกั่ว ลักษณะเป็นพระพิมพ์พุทธศิลป์สมัยหริภุญชัยยุคปลาย รูปทรงคล้ายกลีบบัว ด้านหน้าเป็นองค์พระนั่งปางสะดุ้งมาร อยู่บนฐานบัวหงาย
องค์นี้ ของ เสี่ยสุรพล คำป่าแลว ปัจจุบันเป็นพระกรุเก่าที่มีราคาหลักแสน ของเมืองลำปาง

ต่อด้วย พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ หลังจารรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นขุนพลพระพิมพ์เนื้อผงยุคต้น ในสกุลพระเครื่อง “หลวงปู่โต๊ะ” ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
เป็นพระพิมพ์เนื้อผงที่มีพุทธคุณ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบพระสมเด็จ ด้านหน้าเป็นองค์พระนั่งปางสมาธิบนฐาน ๓ ชั้น ที่มีเส้นสายลายศิลป์สวยงามโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขาโต๊ะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “สมเด็จขาโต๊ะ” ด้านหลังเรียบเนียน แบบองค์นี้ ของ เสี่ยเชาว์ เพชรเกษม นอกจากจะเป็นพระแท้ที่ดูง่ายและสวยงามแล้ว ยังมีลายมือจารอักขระที่พิเศษ--สภาพแบบนี้ เคยมีราคาสูงถึงหลักล้านต้นมาแล้ว

อีกหนึ่งสำนักคือ พระพิมพ์พระศาสดา โปรดแม่พระแม่ธรณีบีบมวยผม (เล็ก) เนื้อเทาดำ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
เป็นพระพิมพ์เนื้อผงที่มีพุทธคุณ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระกรุที่มีพุทธศิลป์งดงามในยุครัตนโกสินทร์ สร้างด้วยฝีมือช่างหลวงชั้นสูง
ค้นพบครั้งแรกจากกรุพระฝั่งธนบุรีในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๘ ที่กรุพระวัดนางชี และครั้งที่ ๓ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๘ ที่กรุพระวัดตล่อม พบพิมพ์พระมากกว่า ๕๐ พิมพ์
องค์นี้ ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง เป็นหนึ่งใน ๕๐ พิมพ์ ที่จัดว่าเป็นพิมพ์พิเศษ ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ซึ่งพบได้น้อยและหายาก โดยเฉพาะองค์ที่สมบูรณ์ สวยงามแบบนี้

รายการต่อไปคือ เหรียญเปิดโลก หลวงปู่ทวด เนื้อตะกั่ว พ.ศ.๒๕๓๒ พระพรหมปัญโญ (หลวงปู่ดู่) วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอริยสงฆ์แห่งเมืองกรุงเก่า ในยุคหลังปีกึ่งพุทธกาล ผู้มีเมตตาธรรมสูงส่งและพุทธาคมเข้มขลัง
ท่านได้สร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลไว้มากมายหลายรุ่น เช่น พระพรหมเนื้อผง เหรียญรุ่นแรก เหรียญเปิดโลก เหรียญยันต์ดวง และเหรียญรุ่นปฏิบัติธรรม
ในภาพนี้คือเหรียญยอดนิยมอันดับต้นๆในสกุลเหรียญหลวงปู่ดู่ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “เหรียญเปิดโลก” ตามแนวคิดของหลวงปู่
สร้างเป็นเหรียญปั๊มทรงกลมขนาดมาตรฐาน ด้านหน้าเป็นรูปจำลองหลวงปู่ทวดนั่งสมาธิบนฐานบัว ๒ ชั้น มือถือลูกแก้ว ส่วนด้านหลังเป็นรูปแบบยันต์ ๕ พร้อมอักษรระบุปีที่สร้าง พ.ศ.๒๕๓๒
เนื้อเหรียญมีทั้งทองคำ เงิน ทองแดง และตะกั่ว แบบเหรียญนี้ ของ เสี่ยเพชร–อิทธิ ชวลิตธำรง ซึ่งนักนิยมสายตรงเชื่อว่าเป็นเนื้อเหรียญลองพิมพ์ เพราะพบได้น้อยมาก มีเพียงไม่กี่เหรียญ แต่เป็นที่ต้องการของนักสะสม เนื่องจากเชื่อว่าหลวงปู่ได้ลงยันต์จารอักขระบนแผ่นตะกั่วด้วยมือของท่านเอง แต่หาได้ยากมาก โดยเฉพาะเหรียญที่สภาพสวยงามแบบนี้ ราคาสูงถึงหลักแสนปลาย เทียบเท่าเนื้อทองคำ

ตามมาด้วยอีกองค์คือ พระพุทธชินสีห์ พิมพ์ใหญ่ พ.ศ.๒๕๓๓ เนื้อทองคำ วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระดีที่สร้างในพิธีใหญ่สมัยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯพระองค์ก่อน
สร้างแบบลอยองค์ โดยจำลองจากพระพุทธชินสีห์ พระคู่บ้านคู่เมือง ที่ประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดบวรฯ ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์จนเชื่อกันว่า แม้เพียงภาพถ่ายหรือรูปจำลองของท่านก็มีอานุภาพปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย และช่วยให้ประสบความสำเร็จ ก้าวหน้าในชีวิต เหมาะสำหรับการบูชาประจำบ้านหรือตัวบุคคล เพื่อความเป็นสิริมงคล--องค์นี้ ของ เฮียตี๋ วิคตอรี่ เบเกอรี--ร้านนี้เป็นที่รู้จักดี แต่เพิ่งทราบว่าเป็นนักสะสมพระเครื่องที่มีพระดีมากมาย

มาดู ๔ เครื่องรางของขลังยอดนิยมกัน เริ่มจากปลัดขิก งาแกะ โดยอาจารย์เฮง ไพรวัลย์ วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา พระอาจารย์ฆราวาสผู้มีชื่อเสียงด้านการสักยันต์ เสกอักขระ และเลขยันต์
ท่านเป็นชาวกรุงเก่า ในช่วงที่อุปสมบท ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติฯ และมีพระสหธรรมิกคือหลวงปู่สี วัดสะแก ได้ศึกษาวิชาตำรับวัดประดู่โรงธรรมร่วมกัน หลังจากสึกออกมา ท่านได้เปิดสำนักแบบไม่ประจำที่ โดยล่องเรือไปจอดตามหน้าวัดต่างๆ ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา มีชื่อเสียงมากในด้านวิชาอาคม โดยเฉพาะในช่วงสงครามอินโดจีน ที่เชื่อว่าวัตถุมงคลของท่านเข้มขลังมาก
โดยเฉพาะวัตถุมงคล “พระพรหม” ที่จารอักขระด้วยมือ เช่น เหรียญ โลหะ เขี้ยว งา และผ้ายันต์เขียนสีเขียวแดง ซึ่งวัตถุมงคลส่วนใหญ่จะถูกนำมาทำพิธีปลุกเสกในช่วงเข้าพรรษา โดยหลวงปู่สีเป็นประธานพิธีที่วัดสะแก
และเครื่องรางที่สร้างน้อยและหายากคือปลัดขิกงาแกะ ซึ่งมีฝีมือประณีต ลงจารอักขระลายมือของท่านอย่างถูกต้องครบถ้วน ที่สำคัญยังมีเลี่ยมหุ้มท้ายจารอักขระกำกับด้วยมือแบบโบราณ อย่างตัวนี้ของเสี่ยเพชร อิทธิ ที่เห็นแล้วบอกได้เลยว่าสวยงามที่สุดเท่าที่เคยพบมา
ขอตอบคำถามจาก “สนามพระ” ที่ถามมานานแล้วว่า ทำไมถึงเรียกเครื่องรางแบบนี้ว่าปลัดขิก
จากการค้นคว้าและสอบถามได้ความว่า คำว่าปลัดน่าจะมาจากฐานะของผู้สร้าง ซึ่งอาจเป็นพระครูปลัด เช่นเดียวกับที่เรียกพระสมเด็จ เพราะผู้สร้างเป็นพระชั้นสมเด็จ
ส่วนคำว่าขิกมีที่มาหลายทาง อย่างแรกคือความหมายตามพจนานุกรม หมายถึงเสียงหัวเราะคิกๆ ขิกๆ เมื่อเห็นวัตถุคล้ายอวัยวะเพศชาย ซึ่งสมัยโบราณนิยมผูกไว้ที่เอวเด็กๆ หรือมาจากภาษาอีสานที่ใช้เรียกเครื่องแขวนคอวัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย
และก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมต้องสร้างเป็นปลัดขิก ซึ่งต้องอิงกับความเชื่อในการบูชาศิวลึงค์ของลัทธิพราหมณ์ ที่บูชาเทพเจ้าสูงสุด ๓ องค์ (ตรีมูรติ) ได้แก่ พระพรหมผู้สร้างโลก พระนารายณ์ผู้พิทักษ์โลก (คล้ายซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล) และพระศิวะผู้ทำลาย
ในลัทธิไศวะหรือไศวนิกาย ถือว่าพระศิวะ (หรือพระอิศวร) เป็นเทพเจ้าสูงสุด โดยมีสัญลักษณ์บูชาคือ “ศิวลึงค์” ซึ่งพบในเทวสถานต่างๆ และมักมีขนาดใหญ่
ต่อมาสัญลักษณ์นี้ถูกปรับให้มีขนาดเล็กลง เพื่อสะดวกในการบูชาติดตัว จนกลายเป็นต้นแบบของปลัดขิก ซึ่งพระเกจิไทยสร้างขึ้นจากความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ--คล้ายกับพระกริ่งของชาวพุทธทิเบตและเนปาล ที่ย่อจากพระไภษัชคุรุมาเป็นองค์เล็กเพื่อพกพาได้สะดวก
และมาถึงเรื่องปิดท้ายที่เกิดขึ้นในร้านอาหารบนห้างย่านรังสิต ซึ่งมีกลุ่มนักนิยมพระเครื่องมารวมตัวกัน เพื่อฟังเรื่องราวของนายเสรี เซียนพระเดินสาย ที่มีเรื่องเครียดมาขอคำปรึกษาจากเพื่อนๆ
นายเสรีเล่าว่า เมื่อสองวันก่อน ได้พาผู้ใหญ่ไปสู่ขอลูกสาวของเซียนพระใหญ่ ซึ่งตกลงยกให้แต่ไม่ยอมให้แต่งงาน เพื่อนๆเซียนพระสงสัยถามว่าเพราะอะไร นายเสรีส่ายหัวตอบว่า เพราะว่าที่พ่อตาขอสินสอดเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ๑ องค์ ซึ่งเขาพยายามต่อรองว่าไม่มีปัญญาหาพระสมเด็จฯโต วัดระฆังฯ ได้ ขอเป็นพระเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์แทน แต่ว่าที่พ่อตาปฏิเสธและไล่เขาออกจากบ้าน
เพื่อนๆฟังแล้วต่างส่ายหน้าหมดหวัง บอกว่านายต้องทำใจ เพราะพวกเขาอยากช่วยแต่ก็ช่วยไม่ได้ มีเพียงพระชั้นแม่ชี (บุญเรือน) และพระระดับเจ้าคุณ (นรฯ) ซึ่งต่างจากพระชั้นสมเด็จ (วัดระฆัง) มาก--งานนี้เสี่ยเสรีมีสองทางเลือกคือยอมอกหักหรือวางแผนพาหนีลูกสาวไปกับลูกปืนพ่อตา เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง