
การได้ชมภาพสีพระสมเด็จวัดระฆังที่ขยายขนาดใหญ่นั้น เริ่มต้นจากหนังสือพระสมเด็จวัดระฆังร้อยปี ซึ่งทางวัดระฆังจัดพิมพ์และเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2515 จนมาถึงหนังสือพระเครื่องวงการในปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว
สำหรับพิมพ์ใหญ่...องค์ที่มีลายพิมพ์คมชัดจนสามารถเห็นเส้นสังฆาฏิได้อย่างชัดเจนนั้น หายากมาก จนนับองค์ได้
ผู้ที่ชื่นชอบพระสมเด็จมักคุ้นตากับเส้นสังฆาฏิขององค์เสี่ยดม..และร่องกลางระหว่างอกขององค์ลุงพุฒ รวมถึงองค์เกศสะบัด ที่เห็นเค้าโครงของผ้าสังฆาฏิแผ่นใหญ่ที่มีรอยเว้าตรงกลาง...
ในพิมพ์ใหญ่ยังไม่พบองค์ใดที่มีเส้นขอบจีวรโค้งเข้าหารักแร้คล้ายทรงเจดีย์ แม้แต่เพียงองค์เดียว
การเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นสังฆาฏิ เส้นแยกพระเพลา เส้นแซม หรือแม้แต่บางองค์ที่ติดพิมพ์คมลึกจนเห็นรายละเอียดชัดเจน หากใช้มาตรฐานวงการพระ อาจมองว่า “เกินจริง” แต่ในความเป็นจริง หากมี...ก็ถือเป็นเครื่องบ่งชี้...ถึงความเป็นพระแท้...ได้อย่างหนึ่ง
เส้นคมเหล่านี้ถูกปลอมแปลงมานาน...ผู้ที่ไม่เคยเห็นเส้นคมของพระแท้...อาจถูกหลอกได้ง่าย
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐานที่คุ้นตา องค์ในคอลัมน์นี้ เมื่อดูผิวเผิน จะเห็นว่าติดพิมพ์คมลึกและชัดเจนกว่าหลายๆ องค์ จุดเริ่มต้นของเส้นคมอยู่ที่ฐานชั้นที่สาม...เส้นขอบนูนทั้งด้านบนและล่าง ตรงกลางเว้าเป็นร่อง
หลักการของช่างโบราณ ได้ย่อแบบมาจากฐานพระประธานในโบสถ์...เรียกว่า “เส้นลวดกันลาย” ซึ่งหลายองค์สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน
เมื่อมองขึ้นไปที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย...จะเห็นเส้นชายจีวร...ซึ่งเป็นเส้นสัญลักษณ์ของพิมพ์ใหญ่...โดยทั่วไปแล้ว เส้นนี้จะเรียวเล็กและโค้งเว้าเข้าหาหัวพระชานุซ้าย...แต่สำหรับองค์นี้ เส้นดังกล่าวคมชัดกว่าเมื่อเทียบกับองค์อื่น
จำหลักครูให้ดี ตำแหน่งนี้ต้องนูนสูงกว่าและค่อยๆ ลาดเอียงไปตามแนวพระบาทที่ซ้อนกัน โดยปลายพระบาทซ้ายจะสิ้นสุดตรงแนวหักพระกร...และต่อเนื่องไปจนถึงหัวพระชานุขวา
เส้นคมชัดเหล่านี้มีให้เห็น แต่เมื่อถึงบริเวณแนวพระอุระ...เส้นสังฆาฏิขององค์นี้จะเห็นเป็นสองเส้นแยกกัน...คมชัดและมีช่องว่างตรงกลาง ซึ่งแตกต่างจากสังฆาฏิพิมพ์ใหญ่องค์อื่นๆ ที่เคยพบมา
ความสูงของแถบผ้าสังฆาฏิจะลดระดับลงในพื้นที่ที่เหลือบริเวณแนวอกขวา
เมื่อพบองค์ที่คมชัดจริงๆ เช่นองค์นี้ ควรจดจำไว้เป็นองค์ครูเพื่อใช้เปรียบเทียบกับพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่องค์อื่นๆ ที่มักติดพิมพ์เป็นเนินราบเดียวกัน
เส้นคมชัดเหล่านี้เกิดจากการกดพิมพ์ที่ลึก...ประกอบกับเนื้อปูนผสมน้ำมันที่หดตัวน้อย...เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ใช้พิจารณาความแท้ของพระสมเด็จวัดระฆัง...ซึ่งไม่ต่างจากการตัดสินจากความนุ่ม หนึก และซึ้งของเนื้อพระ
เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์นี้มีความละเอียดและขาวสะอาดแบบ “ตรียัมปวาย” ซึ่งเรียกกันว่าเนื้อเกสรดอกไม้ มีลักษณะหนึกแกร่ง...พื้นผิวมีรอยแตกเป็นลายงาอ่อน แฝงด้วยความซึ้งจากธรรมชาติของผิวบางๆ แบบดั้งเดิม ที่เรียกว่าผิวเยื่อหอม
นอกจากองค์พระที่คมชัดแล้ว เส้นซุ้มและเส้นกรอบกระจกยังติดชัดเจนสามด้าน ยกเว้นด้านล่าง ถือเป็นองค์ประกอบของพิมพ์พระที่สมบูรณ์แบบในทุกมิติ งดงามและกลมกลืนในทุกสัดส่วน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังใหม่กับวงการพระสมเด็จ องค์ที่ผิวเกลี้ยงเกลาและสะอาดตาอาจดูเป็นพระที่พิจารณายาก
แต่เมื่อดูด้านหลัง จะเห็นขอบทั้งสี่ด้านที่หลุดล่อน มีหลุมร่องและเนินเรียบ พร้อมด้วยฝ้ารักเก่าสีดำแกมน้ำตาล ซึ่งเป็นลักษณะมาตรฐานของหลังพระสมเด็จวัดระฆังที่คุ้นตา
ถือเป็นโชคดีที่วันนี้ได้ชมพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์ที่งดงามระดับแถวหน้าอีกองค์หนึ่ง
พลายชุมพล