ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาษาอังกฤษ: Septicemia) เป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "การติดเชื้อในกระแสเลือด" แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุ วิธีรักษา หรือวิธีป้องกัน เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงและห่างไกลจากภาวะติดเชื้อชนิดต่างๆ บทความนี้จึงนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากอะไร
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร? การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่กระแสเลือด สามารถติดเชื้อจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ หรืออาจเริ่มจากการติดเชื้อราหรือเชื้อไวรัสก็ได้
เมื่อร่างกายตอบสนองต่อเชื้อแปลกปลอมดังกล่าว แต่ว่าอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
สรุปง่ายๆ การติดเชื้อในกระแสเลือดคือภาวะที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในร่างกายได้

วิธีสังเกตอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
หากร่างกายมีการติดเชื้อเฉพาะที่อวัยวะบางส่วน อาการที่แสดงออกจะเกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้นๆ อย่างชัดเจน เช่น หากมีการติดเชื้อที่ปอดจะมีอาการเจ็บหน้าอกและไอ แต่หากเชื้อโรคแพร่กระจายจนทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย อาจจะมีอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนี้
- ไข้สูง
- รู้สึกหนาวสั่น
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจเร็ว
- อ่อนเพลีย ซึม
- อาเจียน
- ท้องเสียรุนแรง
กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังในการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ผู้ป่วยสูงอายุ
- ผู้ป่วยเด็กเล็ก
- ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสหายได้หรือไม่?
การติดเชื้อในกระแสเลือดอันตรายหรือไม่? ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อรุนแรง หรือในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดระยะสุดท้าย ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะตอบสนองจนทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานล้มเหลว อาจนำไปสู่ภาวะช็อก หมดสติ ความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็ว และในบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตามหากสามารถสังเกตอาการผิดปกติในร่างกายและไปพบแพทย์โดยเร็ว โอกาสในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดให้หายก็จะสูงขึ้น อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองอย่างเด็ดขาดหากมีอาการที่เข้าข่ายภาวะติดเชื้อนี้
วิธีการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและระยะเวลาที่จะหาย
ระยะเวลาในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยจะได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งขั้นตอนแรกมักจะเริ่มต้นจากการตรวจเลือดเพื่อหาชนิดของเชื้อโรคก่อน
จากนั้นจึงจะเริ่มให้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อโรคเฉพาะตัว ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งควบคุมอาการอื่น ๆ เช่น การปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติ และดูแลอาการที่เกิดจากการติดเชื้อ รวมไปถึงบางรายอาจต้องทำการผ่าตัด
การรักษาของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการที่แสดงออกของภาวะติดเชื้อที่เกิดขึ้น

แนวทางป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- รักษาสุขอนามัยด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและใช้ช้อนกลาง
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- รับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์
- หากมีโรคประจำตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อผ่านทางอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และลุกลามไปยังกระแสเลือด ดังนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนี้และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี