Inbody เป็นเครื่องมือวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analyzer) ที่ช่วยวัดค่าปริมาณกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ เกลือแร่ และมวลกระดูก รวมถึงประเมินความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ความต้านทานไฟฟ้าในเนื้อเยื่อและเซลล์ (Bioelectrical Impedance Analysis) ซึ่งไขมันมีแรงต้านทานไฟฟ้าสูงเนื่องจากนำไฟฟ้าได้ไม่ดี ในขณะที่กล้ามเนื้อซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักจะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าและมีแรงต้านทานต่ำ ผลการตรวจจะแสดงเป็นตัวเลขที่ช่วยวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกายได้อย่างละเอียด
กลุ่มบุคคลที่เหมาะสำหรับการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)

- บุคคลที่ต้องการทราบสัดส่วนร่างกายเพื่อวางแผนดูแลสุขภาพ
- ผู้ที่ต้องการปรับรูปร่างหรือเพิ่มกล้ามเนื้อผ่านการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
- ผู้ที่ต้องการลดไขมันในร่างกายโดยไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
- ผู้ที่ป่วยบ่อยและต้องการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
กระบวนการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)
การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายด้วยเครื่อง Inbody มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ใช้กระแสไฟฟ้าระดับต่ำ จึงปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องยืนบนเครื่องด้วยเท้าเปล่า โดยไม่สวมรองเท้า ถุงเท้า ถุงน่อง หรือเครื่องประดับใดๆ
- เจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น อายุ ส่วนสูง และน้ำหนัก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผลเฉพาะบุคคล
- ผู้เข้ารับการตรวจจับราวจับของเครื่องด้วยมือทั้งสองข้าง และยืนนิ่งบนเครื่องเป็นเวลาประมาณ 5 นาที
- เครื่องจะทำการวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกายและพิมพ์ผลการตรวจออกมาเป็นรายงาน
- แพทย์จะอ่านผล วิเคราะห์ข้อมูล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพตามผลที่ได้
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือเตรียมตัวพิเศษใดๆ ก่อนการตรวจ
การแปลผลและการประเมินผลตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)
เครื่อง InBody จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบร่างกาย (Body Composition Analyzer) ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานตามเพศและอายุ แพทย์จะใช้ผลนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคอ้วน แนะนำปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม ปริมาณน้ำที่ควรดื่ม ประเภทและความเข้มข้นของการออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาสุขภาพและรูปร่างให้สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้เข้ารับการตรวจ โดยวิเคราะห์จากค่าต่างๆ ดังนี้
- ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ช่วยระบุว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ แพทย์จะประเมินร่วมกับปริมาณกล้ามเนื้อ ไขมัน และองค์ประกอบอื่นๆ ของร่างกาย
- อัตราส่วนเอวต่อสะโพก (Waist Hip Ratio : WHR) โดยค่าปกติสำหรับผู้ชายควรต่ำกว่า 0.9 และผู้หญิงควรต่ำกว่า 0.85
- ปริมาณน้ำในร่างกาย (Total Body Water) ทั้งภายในและภายนอกเซลล์ ช่วยกำหนดปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวัน โดยคำนึงถึงกิจกรรมประจำวันของแต่ละคน
- อาการบวมน้ำ (Edema) เพื่อปรับประเภทอาหาร เช่น ลดอาหารรสเค็มและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ปริมาณโปรตีนและแร่ธาตุเฉลี่ย (Protein Mass และ Minerals Mass) เพื่อกำหนดชนิดและปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับ
- ปริมาณกล้ามเนื้อทั้งหมด (Skeletal Muscle Mass) ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเผาผลาญพลังงานพื้นฐาน (Basal Metabolic Rate : BMR) ที่สะท้อนถึงอายุทางร่างกาย และสามารถปรับปรุงได้ด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
ปริมาณกล้ามเนื้อในแขน ขาแต่ละข้าง และลำตัว (Lean Muscle Mass) เพื่อเปรียบเทียบความสมดุลและวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสม - มวลไขมันในร่างกาย (Body Fat Mass) เพื่อปรับอาหารและป้องกันโรค
- เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย (Body Fat) เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไขมันที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนารูปร่างและความคมชัดของกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ที่ต้องการกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Six Pack) ควรมีเปอร์เซ็นต์ไขมันไม่เกิน 12% โดยค่าปกติสำหรับผู้ชายคือ 10-20% และผู้หญิงคือ 18-28% หากเกินหรือต่ำกว่าค่าปกติอาจบ่งชี้ถึงภาวะอ้วนหรือผอมเกินไป
- ปริมาณไขมันสะสมในอวัยวะภายใน (Visceral Fat Area) ซึ่งไม่ควรเกิน 100 cm2 เพราะอาจก่อให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติในการเผาผลาญ เสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวาน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมเพื่อลดไขมันส่วนนี้
บทความโดย : เครือโรงพยาบาลพญาไท - เปาโล