ความสำเร็จของ ตรีสรา รีสอร์ต ภูเก็ต ที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มองหาการพักผ่อนระดับพรีเมียม และอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคือโครงการตรีวนันดา (TRI VANANDA) ศูนย์รวมเวลเนสแห่งเอเชียที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2564
จากตรีสรา สู่ตรีวนันดา ภายใต้การบริหารของ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป โครงการตรีวนันดาได้รับการจับตามองอย่างมาก ด้วยการลงทุนกว่า 6,600 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้เป็นต้นแบบของที่พักอาศัยเพื่ออนาคตระดับโลก โดยมุ่งเน้นแนวคิด Integrative Wellness ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันของหลายเจเนอเรชัน (Multigeneration) เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ เติบโต และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

โครงการตรีวนันดา ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่พักอาศัย (Private residential pool villa), รีสอร์ตเพื่อสุขภาพ (Wellness resort) และ Community House ที่ถูกออกแบบให้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 15% ของโครงการ โดยคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติและทะเลสาบทั้ง 9 แห่งภายในพื้นที่โครงการ
เฟสแรกของโครงการตรีวนันดา ประกอบด้วยวิลล่าจำนวน 77 หลัง ขนาดตั้งแต่ 120-1,800 ตารางเมตร ตั้งแต่วิลล่าขนาด 1 ห้องนอน จนถึงวิลล่าขนาด 4 ห้องนอน พร้อม Community House ซึ่งมีร้านอาหาร Jampa, ฟิตเนส และ Tweenie Club ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้อยู่อาศัย

โครงการตรีวนันดาได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อความสมดุลกับธรรมชาติของภูเก็ต โดยทีมสถาปนิก อาจารย์ธีรพล นิยม และอาจารย์กฤษฎา โรจนกร ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วย อาศรมศิลป์ (Arsomsilp Community and Environmental Architect) และ ฮาบิตา อาร์คิเท็คส์ (Habita Architects) ซึ่งมีการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยได้รับการรับรองจากยูเนสโก สำหรับการออกแบบภายในนั้น ได้รับการดูแลจาก อาฟโรโค่ (AvroKo) และ พี 49 ดีไซน์ (P49 Design)

ร้าน “จำปา” (JAMPA) ทุ่มเททุกขั้นตอนการปรุงด้วยใจ
ในโครงการตรีวนันดามีร้านอาหารใหม่ล่าสุด “จำปา” (JAMPA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือมนทาระ ฮอสพิทาลิตี้ ตั้งอยู่ภายใน คอมมิวนิตี้ เฮ้าส์ (Community House) โดยใช้แนวคิดการปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น ผ่านการใช้เตาฟืน และแนวคิด Zero Waste Cuisine ที่ช่วยลดขยะอาหารไปในตัว พร้อมทั้งสะท้อนความยั่งยืนในทุกกระบวนการ


เตาฟืนในร้าน “จำปา” ถูกเลือกมาเพื่อมอบประสบการณ์การปรุงอาหารแบบดั้งเดิม “Hearth Cooking” ซึ่งไม่เพียงแต่ให้รสชาติที่ลึกซึ้งจากไฟธรรมชาติ แต่ยังเป็นการใช้ศาสตร์ของการปรุงอาหารด้วยไฟ ที่มีเสน่ห์มากกว่าการใช้เครื่องมือครัวสมัยใหม่
ชื่อ “จำปา” (JAMPA) ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกจำปา ซึ่งเป็นดอกไม้ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในภูเก็ต อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับฟาร์ม “พรุจำปา” ซึ่งเป็นฟาร์มภายใต้เครือมนทาระ โดยชื่อ “พรุ” ซึ่งเป็นชื่อฟาร์ม ได้กลายมาเป็นชื่อของร้านอาหารที่มีชื่อเสียง “พรุ” (PRU) ดังนั้นชื่อครึ่งหลังจึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของร้านอาหาร “จำปา” ที่เพิ่งได้รับดาว MICHELIN GREEN STAR หรือ มิชลินรักษ์โลก ประจำปี 2566