หลายคนคงเคยประสบกับฝันร้าย (Nightmare) ขณะนอนหลับ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก แม้ว่าคนไทยบางคนอาจเชื่อมโยงกับการทำนายฝัน แต่จริงๆ แล้วฝันร้ายอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางประการ โดยเฉพาะผู้ที่ฝันร้ายบ่อยๆ ควรหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในตอนกลางคืน
ทำความเข้าใจว่า "ฝันร้าย" คืออะไร?
ฝันร้าย คือ ความฝันที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่เราหลับ โดยสมองควบคุมการเคลื่อนไหวและการทำงานต่างๆ ของร่างกายหลายส่วน ฝันร้ายมักมีลักษณะเป็นเรื่องราวที่ยาวหรือซับซ้อน บางครั้งอาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกันได้ บางคนอาจฝันร้ายในตอนเช้า และมักจะทำให้ผู้ฝันรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือโศกเศร้า จนบางครั้งก็อาจทำให้ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก

สาเหตุที่ทำให้เกิด "ฝันร้าย" มีอะไรบ้าง?
ฝันร้ายเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน บางคนอาจฝันว่าตกจากที่สูงจนทำให้สะดุ้งตื่น แต่ในกรณีที่ผู้ใหญ่ฝันร้ายบ่อยๆ หรือฝันร้ายทุกคืนจนต้องสะดุ้งตื่นอาจทำให้การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผลจากปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกว่า 60% ของกรณีมักเกี่ยวข้องกับความเครียดและความวิตกกังวล จนทำให้เกิดฝันร้ายในขณะหลับ และยังมีสาเหตุอื่นๆ ตามนี้
- ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือการสูญเสียคนที่รัก
- มีอาการของ PTSD หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรง
- การสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- การใช้ยาที่มีผลข้างเคียง เช่น ยานอนหลับ
- ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
- การทานอาหารย่อยยากก่อนเข้านอน
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ฝันร้ายทุกคืน ฝันร้ายบ่อย มีวิธีป้องกันอย่างไร?
หากการฝันร้ายทำให้สะดุ้งตื่นบ่อยจนกระทบต่อคุณภาพการนอนและทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรเริ่มปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อหลีกเลี่ยงฝันร้ายและช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เช่น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอนเพื่อลดความเครียด
- ควบคุมอุณหภูมิในห้องนอนให้พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- ปิดผ้าม่านและไฟให้มืดสนิท เพื่อให้นอนหลับได้สะดวกขึ้น
- ออกกำลังกายวันละ 20-30 นาที โดยแนะนำให้ทำในช่วงเย็น หรือก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง
- ตั้งเวลานอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวันเพื่อให้ร่างกายปรับตัว
- หลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดียหรือติดตามข่าวสารที่ทำให้เครียดก่อนนอน
หากคุณได้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ยังพบว่าปัญหาการนอนฝันร้ายที่กระทบต่อคุณภาพการนอนยังคงอยู่ หรือมันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและตรงจุด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพการนอนที่ดีให้กลับคืนมา
อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข