หลายคนคงคุ้นเคยกับนิทานเรื่อง “เจ้าหญิงนิทรา” ที่เล่าถึงเจ้าหญิงผู้ถูกสาปให้หลับใหล จนกว่าจะได้รับจุมพิตจากเจ้าชายผู้เป็นรักแท้ แต่ในชีวิตจริง หากใครสักคนตกอยู่ในภาวะหลับใหลเช่นนี้ คงไม่มีเจ้าชายมาปลุกให้ตื่น และคงไม่มีใครอยากอยู่ในสภาวะ “เจ้าชายนิทรา” หรือ “เจ้าหญิงนิทรา” อย่างแน่นอน คอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจภาวะดังกล่าวให้มากขึ้น
ภาวะเจ้าชายนิทรา คืออะไรกันแน่?
“ภาวะเจ้าชายนิทรา” หรือที่เรียกว่า Vegetative State ซึ่งหมายถึง “สภาพผัก” เกิดจากการที่สมองได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนใหญ่มักเกิดจากสมองใหญ่ทั้งสองข้างหรือสมองส่วนสำคัญอย่างธาลามัสและไฮโปธาลามัสถูกทำลาย แต่ก้านสมองยังคงทำงานอยู่ จึงต่างจาก “ภาวะสมองตาย” เนื่องจากระบบอื่นๆ ของร่างกายยังทำงานได้ เช่น การหายใจและการไหลเวียนเลือด ผู้ป่วยอาจลืมตา ทำหน้าบึ้ง ร้องไห้ หรือหัวเราะได้ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะนี้เป็นเวลานาน อาจถูกวินิจฉัยว่าเข้าสู่สภาพผักเรื้อรังหรือสภาพผักถาวร ดังนี้
- สภาพผักเรื้อรัง (Continuing Vegetative State) ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 4 สัปดาห์
- สภาพผักถาวร (Permanent Vegetative State) ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 6 เดือน หากไม่ได้รับบาดเจ็บที่สมอง หรือนานกว่า 12 เดือน หากได้รับบาดเจ็บที่สมอง โดยผู้ป่วยในขั้นนี้มีโอกาสฟื้นตัวน้อยมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเจ้าชายนิทรา
ภาวะเจ้าชายนิทราสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง การมีเลือดออกในสมอง การเกิดเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง หรือการที่สมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
อาการของผู้ป่วยภาวะเจ้าชายนิทรา
ผู้ป่วยจะไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว ไม่สามารถสื่อสารหรือพูดคุยได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ และจะอยู่ในสภาพหลับตลอดเวลา แต่อวัยวะภายในยังคงทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากก้านสมองยังคงทำหน้าที่ได้
วิธีการวินิจฉัยภาวะเจ้าชายนิทรา
แพทย์จะทำการตรวจสอบการทำงานของก้านสมองว่ายังคงทำงานอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการถ่ายภาพ MRI หรือ CT Scan รวมถึงการฉีดสีเพื่อตรวจสอบสมอง โดยวิธีการตรวจเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ฟื้นตัว

แนวทางการรักษา
การรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเจ้าชายนิทราเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยการให้สารน้ำ อาหาร และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อหรือแผลกดทับ
วิธีการดูแลผู้ป่วย
1. ทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้แขนขาได้เคลื่อนไหวและป้องกันอาการข้อติดแข็ง
2. พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ
3. ดูแลความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยการเช็ดตัวและทำความสะอาดทุกครั้งหลังผู้ป่วยถ่ายอุจจาระ เพื่อป้องกันแผลกดทับ
4. รักษาความสะอาดช่องปากและฟันด้วยการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือเช็ดทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง
วิธีการป้องกันภาวะเจ้าชายนิทรา
การป้องกันภาวะเจ้าชายนิทรา คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้สมองได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหาย ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึมหากต้องขับรถ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจทำให้สมองบาดเจ็บ สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งเมื่อขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติสมองบาดเจ็บควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด และหากพบความผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
@@@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ. นาวาโท ดร. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล