คุณจำครั้งสุดท้ายที่คุณวัด "อุณหภูมิ"ได้หรือไม่? ปัจจุบันนี้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดกลายเป็นอุปกรณ์ที่เราได้พบเจอทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเสมอ ซึ่งมันเป็นเหมือนขั้นตอนแรกที่เราต้องเจอเมื่อออกจากบ้าน ถ้าอุณหภูมิไม่เกินค่าที่กำหนด เราก็สามารถเข้าผ่านไปได้ แต่นี่แหละ ที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจ โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าอุณหภูมิของเรากำลังใกล้แตะ 37.5 องศาเซลเซียส สุดท้ายแล้ว เราจะติดโควิด-19 หรือแค่อุณหภูมิสูงธรรมดากันแน่? ทุกครั้งที่ต้องวัดเราคงจะลุ้นกันไม่ใช่น้อย ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับเรื่องราวของ "อุณหภูมิ" ให้มากขึ้น เพื่อความสบายใจและหายสงสัยกันเถอะ
เจาะลึกข้อมูลเรื่อง "อุณหภูมิ"

"อุณหภูมิ" ปกติของร่างกาย
อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์นั้นจะคงที่และไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม เพราะมนุษย์มีกลไกในการรักษาสมดุลในร่างกาย เมื่อร่างกายสัมผัสกับความร้อน มันจะเริ่มขับเหงื่อหรือทำให้เรารู้สึกกระหายน้ำ ส่วนในอากาศเย็น เราจะรู้สึกหนาวและขนลุก สิ่งเหล่านี้คือกลไกที่ช่วยรักษาความสมดุลของร่างกาย เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายอยู่ในระดับปกติและปลอดภัย
อุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลา มีการเปลี่ยนแปลง
แม้อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะมีการรักษาความคงที่ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตลอดทั้งวัน โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย แต่จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน ในช่วงเช้าอุณหภูมิจะต่ำกว่าช่วงบ่ายหรือเย็น และในระหว่าง 15.00-17.00 น. จะเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุด ซึ่งจะค่อยๆ ลดลงจนถึงค่าต่ำสุดในช่วง 23.00-01.00 น. โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นซ้ำทุกวัน และที่สำคัญเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ชัดเจนกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามอุณหภูมิร่างกายยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย และระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย
อุณหภูมิร่างกายปกติคืออะไร?
คุณทราบไหม?... อุณหภูมิ ปกติของร่างกายมนุษย์นั้นจะอยู่ในช่วงประมาณ 36.5-37.4 องศาเซลเซียส และในแต่ละคนอาจมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกายหรือสภาพแวดล้อม เมื่อเริ่มมีไข้ หรือหากสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 อุณหภูมิจะสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายสถานที่จึงระบุว่า "ห้ามเข้าเด็ดขาดถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส"

อุณหภูมิเท่าไรถึงเรียกว่าเป็นไข้?
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ได้ระบุว่า เมื่อร่างกายมี "อุณหภูมิ" อยู่ที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีอาการเช่น ตัวร้อนที่สัมผัสได้ หน้าหรือร่างกายแดง ซีด หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ และหากวัดไข้ภายใน 48 ชั่วโมง แล้วพบว่าอุณหภูมิยังสูงกว่าปกติ ก็ถือว่าเริ่มมีอาการไข้แล้ว ทั้งนี้เกณฑ์การวัดไข้มีหลายระดับ ตั้งแต่ไข้ต่ำไปจนถึงไข้สูง ซึ่งระดับอุณหภูมิที่แสดงว่าเป็นไข้มีดังนี้...
- ไข้ต่ำ อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 37.6-38.3 องศาเซลเซียส
- ไข้ปานกลาง อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 38.4-39.4 องศาเซลเซียส
- ไข้สูง อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 39.5-40.5 องศาเซลเซียส
- ไข้สูงมาก อุณหภูมิจะสูงกว่า 40.5 องศาเซลเซียส
ตำแหน่งการวัดอุณหภูมิร่างกาย
การวัด อุณหภูมิ ของร่างกายนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ใช้ในการวัด โดยการวัดอุณหภูมิจะมีการตรวจใน 4 ตำแหน่งหลัก ได้แก่ หู ใต้ลิ้น รักแร้ และทวารหนัก ซึ่งอุณหภูมิในแต่ละจุดจะแตกต่างกันไป ในการวัดที่แม่นยำจะต้องรู้ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมในแต่ละตำแหน่งนั้นควรเป็นเท่าไร ถ้าไม่ระวังอาจทำให้คิดว่ามีไข้ได้ เช่น อุณหภูมิที่หู 38 องศาเซลเซียส, ใต้ลิ้น 37.8 องศาเซลเซียส, รักแร้ 37.2 องศาเซลเซียส และทวารหนัก 38 องศาเซลเซียส ส่วนการวัดที่ใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดในปัจจุบันสามารถวัดจากฝ่ามือหรือหน้าผาก ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส
สาเหตุที่ทำให้ "อุณหภูมิ" ของร่างกายเปลี่ยนแปลง
เพศ
เพศหญิงมักมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายมากกว่าเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการตกไข่ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนจะหลั่งมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิร่างกายของเพศหญิงเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3-0.5 องศาเซลเซียสในช่วงเวลานั้น
อายุ
อายุมีผลต่ออุณหภูมิ โดยอุณหภูมิร่างกายเด็ก จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคง ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่จนกว่าจะถึงวัยผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจึงมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายเด็ก ทั้งนี้ในเด็กและทารก อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ระหว่าง 36.6-37.2 องศาเซลเซียส ขณะที่ผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 36.1-37.2 องศาเซลเซียส ส่วนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ
ความเครียด
ความเครียดก็ทำให้ "อุณหภูมิ" ร่างกายเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน โดยความเครียดนั้นจะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก แล้วเพิ่มการหลั่งสารอิพิเนฟรินและนอร์เอพิเนฟรีน ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ ที่มีผลทำให้มีการผลิตความร้อนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
อาหารและโภชนาการ
สภาพโภชนาการในแต่ละคนแตกต่างกัน ผู้ที่ผอมมากจะมีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังน้อย ไขมันก็น้อยตาม ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าคนอ้วน ขณะเดียวกัน อาหารที่เราทานก็มีผล เช่น การดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิร่างกายได้ รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก็มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มและไม่สูบเช่นกัน
กิจกรรมหรือการออกกำลังกาย
การทำกิจกรรมหนักๆ หรือการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อและอัตราการเผาผลาญในเซลล์ ส่งผลให้ร่างกายผลิตความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย
ดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกด้วยอาหารเสริมจากแบรนด์ดังต่างๆ เพื่อให้คุณมีสุขภาพดีและสดใสตลอดเวลา สามารถหาซื้ออาหารเสริมชั้นนำได้ที่ ส่วนลด iHerb คลิกเลย!!