ผีที่น่ารักจนใครๆ ต่างอยากอยู่ใกล้กัน คือผีแห่งวัฒนธรรมที่จับต้องได้ชื่อ “ผีตาโขน” ที่แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผีตามคน” ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากพุทธตำนานบุญพระเวสสันดรชาดก เมื่อพระเวสสันดรออกจากป่าสู่เมือง และมีเหล่าสรรพสัตว์และภูตผีที่แปลงร่างเป็นชาวบ้านมาร่วมขบวนแห่ส่งเสด็จ
ต่อมา...ชาวบ้านได้นำมาเป็นแบบอย่างในการเล่นสนุกสนาน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 8 โดยใช้หวดข้าวเหนียวมาตกแต่งหน้ากากให้ดูน่ากลัวเหมือนผี แต่เมื่อสวมใส่กลับดูน่ารัก และพากันแห่ด้วยท่าทางร่าเริงเหมือนกำลังส่งเสด็จ โดยยังมีการอัญเชิญพระอุปคุตมาร่วมในขบวนแห่ด้วย
หลังจากนั้นจะเป็นการทำบุญตักบาตร และอุทิศส่วนบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

ประวัติของผีตาโขน มีบุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวด่านซ้าย โดยในขบวนแห่ผีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผีตาโขนใหญ่หรือผีตาโขนเล็ก ล้วนต้องแวะไปสักการะเจ้าพ่อและเจ้าแม่ที่บ้านเดิ่น หมู่ 3 ต.ด่านซ้าย พร้อมทั้งนำดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู และสีเสียดใส่ขันถวายให้ทั้งสองท่าน พร้อมพระเสื้อเมืองโบราณ

เพื่อไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หิ้งบูชา ก่อนนำขบวนผีเหล่านั้นไปยังลานวัดโพนชัย และแยกย้ายกันแห่ไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งหมู่บ้าน
“บ้านเดิ่น” ที่เป็นที่พักอาศัยของเจ้าพ่อกวน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ที่ “หิ้งเจ้าเมืองวัง” บนมุมหัวนอนของบ้าน โดยหิ้งมีเครื่องบูชารูปช้างและม้า ทำจากไหเหล้า 1 ใบ และพานดอกไม้ 1 พาน ใต้หิ้งมีตาแหลวทำจากไม้ไผ่ 1 อัน ข้างๆ มีอาวุธโบราณ เช่น หอก ดาบ ง้าว ฆ้อง กังสดาล และเครื่องทรงโบราณรวมทั้งพระเสื้อเมืองที่สิงสถิตอยู่บนหิ้งนั้น ส่วนที่บ้านเจ้าแม่นางเทียม ใกล้พระธาตุศรีสองรัก ก็มี “หิ้งเจ้าเมืองกลาง” พร้อมเครื่องบูชา ตั้งอยู่บนบ้านหนองข้อง หมู่ 2 ตำบลด่านซ้าย
ย้อนกลับไปในประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ตำนานเล่าว่า...เกิดขึ้นมานานกว่า 400 ปี ขณะที่กำลังก่อสร้างพระธาตุศรีสองรัก มีชายหญิงคู่หนึ่งเข้าไปในองค์พระธาตุ และถูกนายช่างปิดประตูทางเข้าไว้
โดยไม่ทราบเลยว่าทั้งสองติดอยู่ภายในและต้องตาย กลายเป็นเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมในโลกต่างมิติ คอยดูแลรักษาพระธาตุนับตั้งแต่ตอนนั้น
อีกเล่าขานกันว่า...เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ในฐานะพระเสื้อเมือง ทำหน้าที่คัดเลือกเจ้าพ่อกวนคนใหม่ที่มีชีวิตเป็นผู้สืบทอด โดยวิธีการนำชายที่มีวิญญาณร่างทรงพระเสื้อเมืองมารับหน้าที่ในการแต่งตั้งเจ้าพ่อกวนคนใหม่ให้กับราษฎรด่านซ้าย

ไม่ได้มีการระบุเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำเนิด แต่มีการกล่าวถึงผู้เริ่มต้นคือ “เจ้าพ่อกวนขุนไกร” ตามมาด้วย “เจ้าพ่อกวนไชยสมุทร”, “เจ้าพ่อกวนบุญมี” และ “เจ้าพ่อกวนสีจัน”
จากปี 2445-2485 มี “เจ้าพ่อกวนเฮียง” ปี 2499-2531 มี “เจ้าพ่อกวนแถว” และในปี 2531 จนถึงปัจจุบัน คือ “เจ้าพ่อกวน ดร.ถาวร เชื้อบุญมี” ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก ม.ราชภัฏเลย
มีการปฏิบัติประเพณีเพื่อสืบทอดตำแหน่งในสกุล “เชื้อบุญมี” ผ่านวิญญาณของพระเสื้อเมือง โดยพิธีกรรมได้จัดขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปี 2531 ซึ่งตรงกับวันจัดงานเลี้ยงหิ้งเจ้าเมืองวัง
พบว่า...บุคคลที่ได้รับการพิจารณานั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน โดยยึดมั่นในประเพณีโบราณอย่างเคร่งครัด มีความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ชุมชน และให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าพ่อกวนคนที่ 7
ผู้ที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในงานบุญพระธาตุศรีสองรัก งานบุญสำคัญในเทศกาลต่างๆ รวมทั้งเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านทุกเพศทุกวัย
สัญลักษณ์ที่เจ้าพ่อกวนทุกองค์ยึดถือเป็นข้อบังคับ คือการนุ่งโจงกระเบนแทนกางเกงตลอดเวลา ทรงผมยาวและเกล้ามวยที่ท้ายทอยคล้ายกับพราหมณ์ คาดผ้าขาวบริเวณศีรษะ และสวมเสื้อราชปะแตนแขนยาว
ในส่วนของเจ้าแม่นางเทียมก็มีวิธีการคัดเลือกที่ไม่แตกต่างจากที่กล่าวมา ซึ่งปัจจุบันเจ้าแม่นางเทียมได้แก่ นางประกายมาศ เชื้อบุญมี วัย 61 ปี ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำและประกอบพิธีกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ


ทั้ง “เจ้าพ่อ” และ “เจ้าแม่” ยังมีบทบาทในการสนับสนุนมูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก โดยใช้เงินจากการบริจาคมาเป็นกองทุนในการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนชั้น ป.4 ของโรงเรียนด่านซ้ายในทุกปี
เจ้าพ่อกวนได้เล่าให้ฟังว่า ทั้งเขาและเจ้าแม่นางเทียมยังทำหน้าที่แทนร่างของเจ้าเข้าทรง “เมื่อมีผู้มาอัญเชิญเพื่อถามทุกข์สุขหรือมีใครเจ็บไข้ได้ป่วยต้องการการเยียวยา หรือบนบานขอให้พระเสื้อเมืองคุ้มครองความปลอดภัยให้พ้นจากสิ่งไม่ดีและอันตรายทั้งหลาย ขอให้รุ่งเรืองในหน้าที่การงานและการค้าขายต่อไปในอนาคต”

“มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ!” เจ้าพ่อกวนย้ำ “เจ้านายใหญ่จะโกรธทันทีหากมีผู้มาขอคำทำนายเลขเด็ดเพื่อหวังรวยทางลัด โดยไม่ยอมทำงาน...ดังนั้นจึงขอให้ระวังเรื่องนี้ให้ดี”
ความเชื่อที่กล่าวถึงนี้ทั้งหมดสะท้อนถึงพลังศรัทธาของชาวด่านซ้ายที่ยาวนาน พวกเขามั่นใจว่าเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมคือ “ผู้นำจิตวิญญาณ” ที่มีอุดมการณ์สูง ส่งผลให้เกิดการรับรู้จากคำบัญชาเจ้านายใหญ่พระเสื้อเมือง ซึ่งมีพลังที่เกินกว่าคำว่า “อิทธิฤทธิ์” และ “ปาฏิหาริย์”
“ศรัทธา”...ทำให้เกิดปาฏิหาริย์จริงหรือ? เชื่อหรือไม่ก็ขอให้ระวังไม่ให้เป็นการ...“ลบหลู่”
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม