ตำนานของ “พระสังกัจจายน์”... ในคัมภีร์บาลีท่านมีนามว่า “กัจจายนะ” เกิดในตระกูลพราหมณ์ปุโรหิตแห่งกรุงอุชเชนี มีรูปโฉมงดงาม ผิวพรรณดั่งทองคำ หลังจากบวชแล้วท่านสามารถเทศน์ได้อย่างไพเราะ จนมีผู้คนมากมายทั้งชายหญิงติดตามฟังคำสอนของท่าน
มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อโสเรยยะ เมื่อได้เห็นท่านก็เกิดจิตฟุ้งซ่าน อยากได้ท่านมาเป็นคู่ครอง ด้วยอานุภาพแห่งพระอรหันต์ โสเรยยะจึงกลายเป็นผู้หญิง รู้สึกอับอายจึงหนีไปแต่งงานมีครอบครัวที่เมืองอื่น หลายปีต่อมาจึงกลับมาขอขมา ท่านให้อภัยและโสเรยยะก็กลับเป็นชายดังเดิม
พระกัจจายนะ...รู้สึกผิดที่ความงามของตนเป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นหลงผิด ท่านจึงอธิษฐานให้รูปร่างเปลี่ยนไปเป็นคนเตี้ยอ้วน พุงพลุ้ย จากนั้นท่านก็ยกมือปิดตาและทวารทั้งเก้า...นี่คือที่มาของการสร้าง “พระปิดตา” ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายสำนักทั่วประเทศไทย

“พระกัจจายนะ” เป็นหนึ่งในพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธเถรวาทนิยมสร้างรูปเคารพไว้บูชา...ท่านยังเป็นหนึ่งใน 18 อรหันต์ที่ชาวพุทธมหายานให้ความเคารพนับถือและกราบไหว้เพื่อขอพรในด้านโชคลาภและความสำเร็จ
“คะเซ็นเน็น (Kasennen)”...เป็นชื่อที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียก “พระอรหันต์” หนึ่งในอสิติมหาสาวกของพระพุทธโคตม ซึ่งมีรูปลักษณ์อ้วนพุงพลุ้ย สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ
ส่วนในคติความเชื่อของจีน ท่านคือนิรมาณกายของพระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย ผู้จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปหลังจากพระพุทธโคตม โดยแบ่งภาคมาในรูปของพระสงฆ์นามว่า...ซีฉื่อ สำหรับประเทศไทยเรารู้จักท่านในนาม... “พระสังกัจจายน์”
จากตำนานพุทธสาวกได้บันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้ามีพระสาวกสำคัญ 80 องค์ ในจำนวนนี้มีเพียง 41 องค์ที่เป็นเอตทัคคะ และมีเพียง 3 องค์ที่ถูกสร้างรูปเคารพไว้บูชา ได้แก่...พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระสังกัจจายน์
0 0 0 0

“พระสังกัจจายน์”...มีผิวพรรณและรูปร่างงดงามมาก จนเมื่อพระเถระเดินมาแต่ไกล พระภิกษุ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายต่างเข้าใจว่า “พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว” จึงพากันกราบไหว้ด้วยความเคารพ...
เนื่องจากรูปลักษณ์ของท่านคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า ท่านจึงอธิษฐานให้ร่างกายย่นย่อ ต่ำเตี้ย และมีพุงป่อง สูญเสียความงดงามเดิม ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า ชาวจีนจึงนิยมสร้างรูปพระสังกัจจายน์ประดิษฐานตามศาสนสถานต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีบันทึกที่ชัดเจนว่าการนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด...
แต่เราสามารถคาดเดาได้จากเครื่องเคลือบสมัยเซ็งเตาปังโคย ซึ่งมีรูปพระสังกัจจายน์ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทย มีการขุดพบรูปพระสังกัจจายน์พร้อมกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน...ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ขณะบูรณะวัดแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี ได้พบประติมากรรมพระสังกัจจายน์และหอยสังข์กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน

และ...ในปี 2461 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ริมคลองท่าว่า ชาวจีนอพยพกลุ่มหนึ่งขุดพบองค์พระสังกัจจายน์ขณะขุดทรายที่คุ้งน้ำวังฆ้อง เหตุการณ์นี้ทำให้ชุมชนหมู่ 8 ตำบลสวนแตงและวัดได้เปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นพระเถระ โดยใช้ชื่อว่า...สังฆจายเถร
“วัดสังฆจายเถร”...เดิมชื่อ “วัดวังฆ้อง” เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง มีเจดีย์ทรงปรางค์ (ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร) เป็นหลักฐานยืนยัน
เนื่องจากความเก่าแก่อันยาวนานของศาสนสถานแห่งนี้ ทำให้มีการปล่อยทิ้งร้างและบูรณะหลายครั้ง ล่าสุดในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงฯ ได้มีการบูรณะอีกครั้งโดยมีพระสงฆ์จำพรรษาสืบทอดกันมา...วัดยังคงใช้ชื่อเดิม
เมื่อมีการค้นพบพระสังกัจจายน์ ชื่อวัดจึงถูกเปลี่ยนตามชื่อชุมชน
0 0 0 0
“พระสังกัจจายน์”...เป็นพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน ถือเป็นพระอรหันต์ที่มีลักษณะพุงพลุ้ย คนในอดีตเชื่อว่าหากลูบหน้าท้องของพระสังกัจจายน์จะช่วยให้มีบุตร จึงนิยมเดินทางไปยังวัดหรือศาลเจ้าที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระองค์

นอกจากนี้ “พระมหากัจจายนะ” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์”...เป็นพระพุทธรูปที่มีรูปร่างอ้วนพลุ้ย เปลือยอก ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ใบหูยาวจดบ่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ...ความสุขสมปรารถนา ผู้ศรัทธามักมาสักการะเพื่อขอพรให้เกิดสิริมงคล 3 ประการ
อย่างแรก...ในด้านโชคลาภและความมั่งคั่ง เชื่อกันว่าท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปี่ยมด้วยทรัพย์สมบัติ อย่างที่สอง...ในด้านปัญญา ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากท่านมีสติปัญญาเฉียบคม
สุดท้าย...ในเรื่องความงามและเสน่ห์ ท่านมีผิวพรรณดั่งทองคำและรูปร่างคล้ายพระพุทธเจ้า ทำให้เหล่าเทพเทวดาต่างชื่นชมและรักใคร่

เมื่อไปเยือน “วัดหลวง” ที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะพบกับบรรยากาศที่สงบร่มเย็น เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง และมีโอกาสได้กราบไหว้พระสังกัจจายน์องค์เก่าแก่ภายในวัด
คาถาสำหรับบูชาพระสังกัจจายน์ “กัจจานะจะมหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญจะ พุทธะสุภา สิตัง พุทธะตังสะ มะนุปปัตโต พุทธะโชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวะ มะนุสสานัง
...ปิโยพรหม นะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโสชะนา อิถีชะนา ราชาภาคินิจิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมะมะ”
ปิดท้ายด้วยการไหว้พระมหาสังกัจจายน์ โดยการตั้งนะโม 3 ครั้ง พร้อมกล่าวคำบูชาว่า อิมินาสักกาเรนะ สาวะกะสังโฆ กัจจายะนะเถโร มหาเตชะวันโต พุทธะโภคาวะโห ปาระมิตาโร อิทธิ ฤทธิ ติตะ มะณะตัง สะระณัง คัจฉามิ
“ศรัทธา”...สามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้จริงหรือไม่? ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ขอได้โปรดอย่า...“ลบหลู่”.
รัก-ยม