รู้จักกับ "พระพรหมเอราวัณ" ศูนย์รวมศรัทธาของทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เข้ามากราบไหว้กันตลอดเวลา แล้วที่มาของพระพรหมนี้มีอะไรบ้าง?
เรื่องราวของพระพรหมเอราวัณ
“พระพรหมเอราวัณ” หรือที่คนรู้จักกันในชื่อศาลท้าวมหาพรหม ตั้งอยู่หน้าภายในโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่มีผู้คนจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศมักแวะเวียนมาทำการกราบไหว้และบูชาตลอดเวลา จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะชาวจีนที่มักจะต้องแวะมาที่นี่เป็นประจำ
การก่อสร้างพระพรหมเอราวัณบริเวณสี่แยกราชประสงค์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2494 โดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่ตัดสินใจสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ ในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2499 ทางบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อให้พลเรือตรีหลวงสุวิชาน แพทย์ ร.น. ผู้เชี่ยวชาญในการหาฤกษ์และการนั่งทางในมาดำเนินการหาวันเปิดโรงแรม

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม
จากนั้นจึงได้มีการตั้งศาล “พระพรหมเอราวัณ” ขึ้น ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา


พระพรหมเอราวัณ ถือเป็นศาลพระพรหมศาลแรกที่มีขนาดใหญ่ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู พระพรหมเป็นพระผู้สร้าง และทรงมีสี่พระพักตร์ แต่ละพระพักตร์เป็นดั่งสัญลักษณ์แทนทิศทั้งสี่ คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ทำให้พระองค์สามารถมองเห็นและปกปักรักษาได้ทั้งโลกมนุษย์และสวรรค์ พระองค์ช่วยปัดเป่าความขัดข้อง อุปสรรค และส่งเสริมโชคและความสำเร็จ ของผู้สักการะที่มีจิตศรัทธาสมปรารถนา

ปัจจุบัน พระพรหมเอราวัณ อยู่ภายใต้การดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมและสักการะศาลท่านท้าวมหาพรหมที่โรงแรมเอราวัณได้ทุกวัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่มีวันหยุด
วิธีการบูชาพระพรหมเอราวัณที่ถูกต้อง
เนื่องจากพระพรหมมีทั้งหมด 4 พักตร์ใน 4 ทิศ จึงแนะนำให้บูชาครบทั้ง 4 พักตร์ เพื่อให้ได้รับพรครบทุกประการ การบูชาแค่หน้าเดียวก็ไม่ผิด แต่เชื่อว่าหากทำเช่นนั้นจะได้รับพรแค่เรื่องเดียวเท่านั้น หากต้องการพรในหลายๆ ด้านควรเตรียมของสักการะให้ครบทั้ง 4 ธาตุ ได้แก่
- ธาตุดิน คือ ดอกบัว
- ธาตุน้ำ คือ น้ำสะอาด
- ธาตุลม คือ ธูป
- ธาตุไฟ คือ เทียน

การสักการะ “พระพรหมเอราวัณ” ควรเริ่มจากพักตร์แรกแล้วหมุนไปทางขวามือของเรา ต่อไปยังซ้ายมือของท่านจนถึงพักตร์สุดท้าย การขอพรจากแต่ละพักตร์มีความหมายและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป
- พักตร์แรก ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด ความหมายของพักตร์แรกคือการขอพรในเรื่องการงาน การศึกษา สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ การเลื่อนตำแหน่ง หรือการก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงการขอพรเกี่ยวกับพ่อ
- พักตร์ที่สอง ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด สำหรับพักตร์ที่สองนั้น ให้ขอพรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การเงิน ทองคำ ที่ดิน บ้าน คอนโด และรถยนต์ หากต้องการสิ่งเหล่านี้ สามารถขอพรได้จากที่พักตร์นี้ รวมถึงการขอให้หนี้สินที่มีคนยืมไปแล้วไม่ได้คืนได้รับการชำระ
- พักตร์ที่สาม ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สามนี้ให้ขอพรเกี่ยวกับสุขภาพ คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมถึงการขอพรเกี่ยวกับแม่ คู่สัญญา หุ้นส่วน และความมั่นคงของชีวิต
- พักตร์ที่สี่ ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด สำหรับพักตร์ที่สี่ให้ขอพรเกี่ยวกับโชคลาภ สิ่งที่ได้รับมาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน หรือการขอออเดอร์สินค้า รวมถึงการขอพรเกี่ยวกับบุตร หากใครยังไม่มีบุตรก็สามารถขอได้ที่พักตร์นี้ และขอให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา