
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ "ผักหวาน" หรือบางคนอาจเคยชิมอาหารที่ทำจากผักหวานมาแล้ว เนื่องจากผักหวานสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยมีผักหวานหลายชนิด บางชนิดแนะนำให้รับประทาน บางชนิดไม่แนะนำ ในส่วนของผักหวานที่แนะนำให้ทานนั้นมี "ผักหวานบ้าน" และ "ผักหวานป่า" แล้วทั้งสองชนิดนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อธิบายไว้ดังนี้
ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน เป็นเวลาที่ผักหวานป่า (Meliantha sauvis Pierre.) เริ่มแตกยอดอ่อน มีผู้คนเก็บยอดมาขายในราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นผลผลิตจากป่าที่มีให้ทานเพียงปีละครั้ง และปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร ยอดอ่อนที่กรอบ อวบ รสชาติหวานมัน และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ทำให้ผักหวานป่าเป็นที่ต้องการสูง เดิมทีมีผู้พยายามปลูกผักหวานป่าแต่ไม่ค่อยสำเร็จ มีเพียงไม่กี่รายที่ปลูกได้ ทำให้มีจำนวนต้นน้อย ผักหวานป่าปลูกยากและเติบโตช้ามาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรบางรายสามารถปลูกผักหวานป่าได้สำเร็จ โดยการเพาะเมล็ด และมีเคล็ดลับคือ ผักหวานป่าเติบโตได้ดีในพื้นที่รก ไม่ชอบแสงแดดจัด จึงต้องปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร อากาศเย็นและชื้น จึงจะอยู่รอดและแตกยอดอ่อนได้ โดยทั่วไปจะเก็บยอดได้หลังจากปลูกประมาณ 2 ปี และควรใช้ปุ๋ยมูลสัตว์เท่านั้น ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี เพราะอาจทำให้ต้นผักหวานตายได้ ผักหวานป่าจึงเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี
อีกหนึ่งชนิดของผักหวานคือ ผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L) Merr.) ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับผักหวานป่า ผักหวานบ้านสามารถปลูกได้ง่ายโดยใช้เมล็ดหรือกิ่งชำ ควรปลูกในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี รดน้ำและให้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ สามารถเก็บยอดได้ตลอดทั้งปี การตัดยอดจะช่วยกระตุ้นให้แตกยอดใหม่มากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการปลูกผักหวานบ้าน โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หากใช้สารเคมีฉีดพ่น ใบจะเหลืองและร่วงภายใน 2-3 วัน ดังนั้นผักหวานบ้านที่มียอดและใบจึงปลอดภัยจากสารเคมีและสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้น ทั้งผักหวานป่าและผักหวานบ้านล้วนเป็นผักที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค
ผู้เขียน ดร.ถกลวรรณ ศิริสวัสดิ์