
ในครัวของเรานั้นเครื่องปรุงรสที่ขาดไม่ได้คือ "ของเค็ม" ซึ่งนิยมใช้ในการหมักเนื้อสัตว์ ปรุงอาหาร หรือแม้แต่ทำต้มยำและแกงจืด น้ำปลาคือหนึ่งในคำตอบที่ทุกคนคิดถึง แต่ยังมีอีก 2 ตัวช่วยที่หลายบ้านคุ้นเคย นั่นก็คือ "ซีอิ๊วขาว" และ "ซอสปรุงรส" หลายคนยังสงสัยว่าทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างไร ใช้แทนกันได้หรือไม่ และเหมาะสมกับการทำเมนูใดบ้าง
ความแตกต่างระหว่างซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรสคืออะไร
ผลิตภัณฑ์ปรุงรสทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างหลายด้านตั้งแต่
จุดกำเนิด : ซีอิ๊วขาว เกิดจากภูมิปัญญาตะวันออก โดยมีหลักฐานการผลิตในประเทศจีนมากว่า 2,500 ปี ส่วนซอสปรุงรสได้รับความรู้จากฝั่งตะวันตก
ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้งานจริงก็มีความแตกต่างกัน
กระบวนการผลิต : ซีอิ๊วขาว การผลิตส่วนใหญ่ใช้กระบวนการหมักแบบธรรมชาติ โดยการนำถั่วเหลืองมาหมักจนย่อยสลายเป็นน้ำซีอิ๊ว ซึ่งต้องใช้เวลาราว 3-6 เดือนในการหมัก ส่วน ซอสปรุงรส ซึ่งเป็นเครื่องปรุงยอดนิยมในครัว ผลิตด้วยกระบวนการหมักที่ใช้เทคโนโลยีเคมีเร่งการผลิต โดยใช้กรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นเพื่อเร่งการย่อยถั่วเหลืองหรือกากถั่วเหลือง หลังจากนั้นจึงใช้โซดาไฟปรับสภาพให้เป็นกลาง กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาภายใน 7 วัน ผลลัพธ์ที่ได้คือซอสปรุงรสที่มีรสชาติเค็มจัด กลมกล่อม และราคาประหยัด
กลิ่น และ รสชาติ : ถึงแม้ว่าทั้งสองผลิตภัณฑ์จะผลิตจากถั่วเหลืองเช่นเดียวกัน แต่กลิ่นและรสชาติมีความแตกต่าง ซีอิ๊วขาว ที่ผลิตจากการหมักตามธรรมชาติจะมีรสเค็มกลมกล่อมและกลิ่นหอมจากถั่วเหลืองอ่อนๆ โดยไม่มีการเติมกลิ่นสังเคราะห์ เหมาะสำหรับใช้ในเมนูต้ม แกง ยำ หมักเนื้อสัตว์ หรือใช้น้ำจิ้ม ในขณะที่ ซอสปรุงรส ที่ผลิตในระยะเวลาอันสั้นจะมีรสชาติเค็มเข้มข้น กลมกล่อม แต่ไม่มีกลิ่นธรรมชาติแบบซีอิ๊วขาว เนื่องจากกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ผู้ผลิตจึงต้องเติมกลิ่นและรสชาติเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รสชาติที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค