
ต้นแก้วเป็นพืชประเภทไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก ต้นแก้วยังจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาหลากหลาย และหากใครที่เคยดูละคร โดยเฉพาะละครแนวพีเรียตหรือย้อนยุค บางครั้งจะมีฉากที่ใช้ใบแก้วเคี้ยวเพื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ทำให้ดูเหมือนเป็นไข้
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคี้ยวใบแก้วแล้วตัวร้อนเหมือนเป็นไข้นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เรามีคำตอบมาให้แล้ว
จากข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ระบุถึงสรรพคุณทางยาของแก้วหรือต้นแก้วไว้ว่า
"ใบ มีรสร้อนเผ็ดขม ช่วยขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ขับลม ใบสดเมื่อโขลกและปั้นใส่ทวารหนักประมาณ 5 นาที จะทำให้ตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ ช่วยขับพยาธิตัวตืด และแก้ท้องเสีย"
นอกจากนี้ยังมีการอธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของแก้วเพิ่มเติมว่า
แก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อพ้อง Chaleas paniculata L.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chinese box tree, Orange jasmine
ชื่ออื่นๆ
ในภาคเหนือเรียก แก้วพริก, ตะไหลแก้ว
ที่ลำปางเรียก จ๊าพริก
ในภาคกลางเรียก แก้ว, แก้วขาว
ที่สระบุรีเรียก แก้วลาย
ในภาษามลายู-ปัตตานีเรียก กะมูนิง
ที่ยะลาเรียก แก้วขี้ไก่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชประเภทไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 - 8 เมตร เปลือกต้นมีสีขาวปนเทาและแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านแตกแขนงเป็นพุ่มหนาแน่น
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับกันเป็นวงกลม ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3 - 7 ใบ ใบคู่ล่างมักมีขนาดเล็กกว่า ลักษณะใบมีหลายรูปแบบ เช่น รูปไข่ รูปรี หรือรูปข้าวหลามตัดเบี้ยว โคนใบเรียว ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบมีรอยหยักตื้น เนื้อใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อส่องแสงจะเห็นเป็นจุดใสๆ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันและหนาแน่น เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนและเผ็ดร้อน
ดอก มีสีขาวบริสุทธิ์ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้นๆ ช่อละ 2 - 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบและร่วงง่าย ดอกบานในเวลากลางคืนและมีกลิ่นหอม
ผล เป็นผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปรี ปลายผลทู่กว้าง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง ผิวผลมีต่อมน้ำมัน
เมล็ด มีลักษณะรูปไข่ หุ้มด้วยขนหนาและเหนียว
ประโยชน์ทางยา
ใบ มีรสร้อนเผ็ดขม ช่วยขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ขับลม ใบสดเมื่อโขลกและปั้นใส่ทวารหนักประมาณ 5 นาที จะทำให้ตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ ช่วยขับพยาธิตัวตืด และแก้ท้องเสีย
กิ่ง และใบ สามารถนำมาใช้รักษาโรคเอดส์ได้
ก้าน และใบสด มีรสเผ็ดร้อนขม นำมาบดและแช่ในแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 วัน ใช้ทาหรือฉีดเพื่อระงับอาการปวด ต้มน้ำอมบ้วนปากช่วยแก้ปวดฟัน และใช้ก้านทำความสะอาดฟัน
ดอก และใบ ช่วยในการย่อยอาหาร บรรเทาอาการไขข้ออักเสบ แก้ไอ และลดอาการเวียนศีรษะ
ราก และต้นแห้ง นำมาต้มเคี่ยว กรองน้ำใช้ทาปากมดลูกเพื่อช่วยเร่งการคลอดบุตรและขับประจำเดือน
ราก มีรสเผ็ดขมสุขุม ช่วยแก้ปวดสะเอว บรรเทาอาการผื่นคันจากความชื้น รักษาฝีฝักบัวที่เต้านม ฝีมดลูก แผลคัน และพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 176
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางส่วนระบุว่าการเคี้ยวใบแก้วจะทำให้เกิดความร้อนภายในช่องปากเท่านั้น ทำให้เมื่อวัดอุณหภูมิทางปากด้วยปรอทจะดูเหมือนมีไข้