- สปีโด (Speedo) บริษัทผลิตชุดว่ายน้ำจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มเป็นผู้สนับสนุนชุดว่ายน้ำให้กับนักกีฬาในทีมชาติออสเตรเลียตั้งแต่กีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 1932
- ในปี ค.ศ. 1956 Speedo ได้สร้างสรรค์กางเกงว่ายน้ำชายแบบใหม่เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และได้กลายเป็นต้นกำเนิดของชุดว่ายน้ำชายขาเว้า Swim Briefs
โอลิมปิกไม่เพียงแต่เป็นเวทีให้กับนักกีฬา แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้หลายแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จัก หนึ่งในนั้นคือ Speedo (สปีโด) บริษัทผลิตชุดว่ายน้ำสัญชาติออสเตรเลียที่เริ่มเป็นผู้สนับสนุนชุดว่ายน้ำให้กับทีมชาติออสเตรเลียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในโอลิมปิก ค.ศ. 1956 เมื่อออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่เมืองเมลเบิร์น
ในปีนั้น Speedo ได้ดีไซน์กางเกงว่ายน้ำผู้ชายในรูปทรงใหม่เพื่อเพิ่มความคล่องตัว จากกางเกงขาสั้นมาเป็น “บรีฟ” หรือ “สวิมบรีฟ” (Swim Briefs) ซึ่งเป็นกางเกงว่ายน้ำขนาดเล็กที่เว้าขาสูงในรูปทรงตัววี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชุดว่ายน้ำมาตรฐานในกีฬาว่ายน้ำและยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

นอกจากการพัฒนาดีไซน์แล้ว ทางแบรนด์ยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยเรื่องวัสดุและเส้นใย โอลิมปิกปี 1956 จึงเป็นครั้งแรกที่ใช้ “เส้นใยไนลอน” ซึ่งเป็นวัสดุใยสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบา ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและลดแรงต้านน้ำขณะว่ายน้ำ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ Speedo กลายเป็นผู้นำตลาดชุดว่ายน้ำโลกทันที และในโอลิมปิกปี 1968 ที่เม็กซิโก มีนักกีฬาว่ายน้ำที่คว้าเหรียญทอง 27 คน (จาก 29 รายการ) เลือกใช้ชุดว่ายน้ำของแบรนด์นี้ระหว่างการแข่งขัน

ความสำเร็จในโอลิมปิกกลายเป็นธรรมเนียมของแบรนด์ที่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในทุกกีฬาโอลิมปิก เช่น การร่วมวิจัยกับองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อยอดการออกแบบชุดว่ายน้ำที่สามารถลดแรงต้านน้ำและอากาศ โดยใช้หลักฟิสิกส์การเคลื่อนที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือชุดว่ายน้ำรุ่น LZR Racer ที่เปิดตัวในโอลิมปิก 2008 ณ กรุงปักกิ่ง และในปีนั้น 98% ของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลเลือกใช้ชุดว่ายน้ำรุ่น LZR Racer รวมถึงไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) ผู้เป็นราชาเหรียญทองในกีฬาว่ายน้ำ

สำหรับโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว แบรนด์ยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับทีมว่ายน้ำของออสเตรเลีย โดยออกแบบชุดว่ายน้ำสองรุ่น ได้แก่ Fastskin Pure Intent และ Fastskin Pure Valor ซึ่งในการวิจัยร่วมกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติที่กรุงลอนดอน ทีมงานได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของฉลามและปลาในน้ำที่แทบไม่พบแรงต้าน เพื่อออกแบบชุดว่ายน้ำที่สามารถเพิ่มความเร็วให้กับนักกีฬาระดับโอลิมปิก

Speedo ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1914 ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘Fortitude’ โดยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากอเล็กซานเดอร์ แม็กเร (Alexander McRae) หนุ่มสก็อตที่อพยพมายังออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1910 และก่อตั้งบริษัท MacRae Hosiery ซึ่งทำการผลิตชุดชั้นใน ต่อมาด้วยความนิยมในการว่ายน้ำในออสเตรเลีย เขาจึงขยายกิจการมาผลิตชุดว่ายน้ำในชื่อ MacRae Knitting Mills และเปิดตัวชุดว่ายน้ำแบบ Racerback ในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีชื่อเสียงในวงการ
ชื่อแบรนด์ Speedo เกิดจากการประกวดตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1928 โดยสโลแกนที่ชนะการประกวดคือ “Speed on in your Speedo” หรือ “ว่องไวในชุดสปีโด” ซึ่งเป็นการเล่นคำจากคำว่า Speed ที่แปลว่า ความเร็ว

แบรนด์จากออสเตรเลียเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการนักกีฬาว่ายน้ำระดับโลกเมื่อ อาร์เน่ บอร์ก (Arne Borg) นักว่ายน้ำชาวสวีเดนตัดสินใจสวมใส่ชุดว่ายน้ำนี้ในวันที่เขาทำลายสถิติโลก หลังจากนั้นแบรนด์ก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในทุกการแข่งขันว่ายน้ำ โดยเฉพาะในกีฬาโอลิมปิก ที่แบรนด์ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้วงการกีฬาและแฟชั่นต้องตะลึงเสมอ ซึ่งชุดว่ายน้ำที่โดดเด่นในโอลิมปิกมีดังนี้

Swim Briefs (1956) : ในโอลิมปิกปี 1956 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Speedo ได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่สำหรับกางเกงว่ายน้ำชายที่มีชื่อว่า สวิมบรีฟ (Swim Briefs) ซึ่งเป็นกางเกงว่ายน้ำขนาดเล็กที่เว้าขาสูงในรูปทรงตัววี ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดแรงต้านของน้ำขณะว่าย พร้อมทั้งใช้วัสดุใหม่คือผ้าไนลอน
Spandex (1972) : หลังจากที่กางเกงว่ายน้ำทรงบรีฟกลายเป็นรูปทรงคลาสสิกของนักว่ายน้ำชายในระดับโลก โอลิมปิกปี 1972 ที่กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมนี Speedo ได้เปิดตัวชุดว่ายน้ำที่ใช้เส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงเป็นครั้งแรก ผลลัพธ์คือ นักกีฬาว่ายน้ำ 21 คนที่สวมใส่ชุดว่ายน้ำสแปนเด็กซ์ของแบรนด์ต่างสร้างสถิติโลกใหม่ในปีนั้น

Aquablade (1996) : โอลิมปิกปี 1996 ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา Speedo ได้เปิดตัวชุดว่ายน้ำใหม่ โดยเปลี่ยนดีไซน์ชุดว่ายน้ำชายจากกางเกงตัวจิ๋วเป็นชุดสูทขายาวถึงเข่า รุ่น Aquablade พร้อมทั้งพัฒนารุ่น Endurance ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อสารคลอรีนในสระว่ายน้ำออกมาด้วย
FASTSKIN (2000) : ในโอลิมปิกปี 2000 ที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ Speedo ได้นำเสนอชุดว่ายน้ำรุ่นใหม่ในซีรีส์ FASTSKIN ซึ่งใช้ผ้าไนลอนเป็นวัสดุหลักที่ทอให้แนบเนื้อกับร่างกายและมีพื้นผิวที่ไร้แรงต้านขณะนักกีฬาว่ายน้ำ โดยได้แรงบันดาลใจจากผิวหนังของฉลามที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว
FASTSKIN FSII (2004) : ในโอลิมปิกปี 2004 ที่เอเธนส์ Speedo ได้พัฒนาต่อยอดชุดว่ายน้ำซีรีส์ FASTSKIN ด้วยรุ่น FSII ซึ่งได้กลายเป็นชุดว่ายน้ำที่ไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำที่ทำลายสถิติและคว้าเหรียญทอง 8 เหรียญในปีนั้นสวมใส่ในทุกการแข่งขัน
LZR Racer (2008) : หลังจากโอลิมปิกปี 2004 Speedo ร่วมกับองค์การนาซาได้ออกแบบชุดว่ายน้ำ LZR Racer โดยใช้หลักฟิสิกส์การเคลื่อนที่ในน้ำและอากาศ เพื่อเพิ่มความเร็วและลดแรงต้านน้ำถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ชุดนี้กลายเป็นสุดยอดเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักว่ายน้ำเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวเหมือนจรวด
FASTSKIN FSII และ Fastskin LZR Racer : ในโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง Speedo ได้เปิดตัวชุดว่ายน้ำ LZR Racer ที่ได้รับการพัฒนาใน Aqualab โดยใช้วัสดุไนลอนผสมสแปนเด็กซ์และโพลียูรีเทนซึ่งมีน้ำหนักเบาและไม่อุ้มน้ำ ช่วยเพิ่มความเร็วและความทนทานในการว่ายน้ำ ทำให้ 98 เปอร์เซ็นต์ของนักกีฬาที่ได้เหรียญทองในการแข่งขันสวมชุดนี้ รวมถึงไมเคิล เฟลป์ส แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่ยุติธรรมจากนักกีฬาที่ไม่ได้สวมชุดที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยเช่นนี้
หลังจากนั้นไม่นาน สหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ หรือ ฟีนา (The Fédération Internationale de Natation หรือ FINA) ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) ได้ออกกฎห้ามการใช้ชุดว่ายน้ำที่มีเทคโนโลยีสูงเกินไปในการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำระดับสากล โดยกำหนดให้ชุดว่ายน้ำต้องทำจากวัสดุที่เป็นเส้นใยผ้าที่อากาศซึมผ่านได้ ห้ามมีวัสดุตัวช่วยอย่างซิป และกำหนดให้ชุดว่ายน้ำชายมีความยาวแค่เข่า ส่วนชุดว่ายน้ำหญิงต้องเปิดท่อนแขนและกางเกงห้ามยาวเกินเข่า และทุกชุดจะต้องได้รับการอนุมัติจาก FINA ก่อนการแข่งขันเพื่อให้ได้ป้ายรับรองจาก FINA
Fastskin Racing System (2012) : ในโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน Speedo ได้พัฒนาชุดว่ายน้ำรุ่น Fastskin Racing System ที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับกฎของ FINA พร้อมทั้งพัฒนาส่วนของแว่นตาและหมวกว่ายน้ำ เพื่อช่วยลดแรงต้านของน้ำที่อาจทำให้การเคลื่อนที่ของนักกีฬาในน้ำช้าลง

Fastskin Pure Intent / Fastskin Pure Valor (2020) : ในโอลิมปิกปี 2020 ที่กรุงโตเกียว Speedo ได้พัฒนาต่อจากชุดฟาสต์สกินสูท (Fastskin Suits) ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนไหวของนักกีฬาว่ายน้ำ พร้อมทั้งร่วมงานวิจัยกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอนเพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวในน้ำของฉลามและปลา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา
ผลลัพธ์คือ ชุดว่ายน้ำรุ่นฟาสต์สกิน เพียว อินเทนต์ (Fastskin Pure Intent) ที่ให้ความสบายและยืดหยุ่นสูง ช่วยให้นักกีฬาเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น พร้อมเทคโนโลยีสิ่งทอที่ลดแรงต้านน้ำและไม่ดึงรั้งผิวกาย ขณะที่ใช้หลักไฮโดรไดนามิก (Hydrodynamics) และชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) เพื่อเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนตัวในน้ำ

อีกรุ่นที่เปิดตัวพร้อมกันคือ ชุดว่ายน้ำฟาสต์สกิน เพียว เวเลอร์ (Fastskin Pure Valor) รุ่นที่มีน้ำหนักเบาที่สุด ซึ่งใส่สบายและคล่องตัว ไร้รอยตะเข็บ ช่วยลดแรงต้านน้ำและแรงดันอากาศระหว่างชุดกับลำตัวนักกีฬา ทำให้การเคลื่อนไหวในน้ำเร็วขึ้น โดยนักกีฬาจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาสวมใส่ชุดนี้ในการแข่งขัน