
เคยรู้สึกอึดอัดเมื่อมีคนขอความช่วยเหลือทั้งที่คุณไม่ได้อยากช่วยบ้างไหม? หรือบางครั้งคุณกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศแล้วมีเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานมากกว่า 10 ปี (จริง ๆ คงไม่เหมาะจะเรียกว่าเพื่อนแล้ว) ทักมาผ่านทาง Inbox ในเฟซบุ๊กเพราะเห็นโพสต์คุณว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วก็ขอให้คุณช่วยซื้อของที่อยากได้เหมือนกับคุณเพิ่งพูดคุยกับเขาเมื่อวานนี้
หรือบางครั้งคุณต้องทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ เพราะไม่กล้าปฏิเสธเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่คุณไม่อยากทำ และบางครั้งคุณก็ต้องทำเพราะกลัวจะถูกมองว่าไม่มีน้ำใจ ถ้าไม่ช่วย แต่คำว่าน้ำใจที่แท้จริงคืออะไร? เราควรจะมาคิดใหม่ว่า สิ่งที่เราทำให้คนอื่นคือการให้ความช่วยเหลือหรือการถูกเอาเปรียบ? วิธีปฏิเสธจึงสำคัญ เพราะต้องทำให้เรารู้สึกสบายใจว่าไม่ผิดที่ไม่ได้ช่วยเขา
วิธีที่ง่ายที่สุดคือการปฏิเสธทันที
หากคุณไม่อยากรู้สึกอึดอัดหรือยากลำบาก สิ่งที่คุณควรทำคือการปฏิเสธไปเลยโดยไม่ต้องอ้อมค้อม เพราะการเข้าไปช่วยเหลือใครสักคนหมายถึงการรับผิดชอบในสิ่งที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่อยากทำ และหากมีใครขอให้คุณทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ ก็ต้องตอบปฏิเสธ พร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่สามารถช่วยได้
จำไว้เสมอว่าคุณควรมีขอบเขตในการให้ความช่วยเหลือคนอื่น และเมื่อคุณปฏิเสธการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ อย่าลืมบอกตัวเองว่า “การปฏิเสธไม่ใช่ความผิดของคุณ” และไม่จำเป็นต้องหาข้อแก้ตัว แค่พูดปฏิเสธด้วยความสุภาพก็เพียงพอแล้ว
การปฏิเสธพร้อมข้อเสนอหรือทางเลือก
ถึงแม้คุณไม่สามารถช่วยเขาได้ แต่ก็ยังสามารถให้คำแนะนำหรือเสนอทางเลือกให้กับผู้ที่ขอความช่วยเหลือ เช่น หากมีเพื่อนหรือรุ่นน้องโทรมาหาคุณเพื่อขอให้หางานให้ แต่คุณรู้สึกว่าไม่พร้อมช่วย คุณสามารถปฏิเสธได้ แต่ยังคงเสนอแนะนำตำแหน่งงานในสาขาที่เขาสนใจให้เขาลองสมัครด้วยตัวเองแทน
ยึดมั่นในจุดยืนของตัวเองพร้อมกับความสุภาพ
หากมีคนชวนคุณไปร่วมงานสัมมนา หรือเพื่อนในกลุ่มชวนไปเที่ยว แต่คุณมีตารางงานที่ยุ่งมากในเดือนนั้น คุณสามารถปฏิเสธไปได้ แต่อย่าลืมทิ้งทางเลือกให้พวกเขา เช่น บอกว่าเดือนนี้ไม่สะดวก แต่เดือนหน้าจะลองกำหนดวันใหม่และจะไปได้ การปฏิเสธแบบนี้จะทำให้คนฟังรู้สึกดีและเข้าใจได้ดี
อย่าตอบรับทันที และรู้จักการให้คุณค่ากับตัวเอง
เมื่อมีคนขอให้คุณช่วย อย่าเพิ่งรีบตอบรับในทันที ควรใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เช่น การช่วยเหลือเพียงเพราะรู้สึกสงสาร นอกจากนี้ควรรู้จักคุณค่าของตัวเอง ถ้าคุณคิดจะช่วยใคร คุณควรมีเหตุผลที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ และหากจะปฏิเสธการช่วยเหลือใคร คุณก็ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการใช้อำนาจหรือสถานะที่คุณมีในการช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่เสี่ยงกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น