คงไม่มีผู้ชายคนใดที่ไม่เคยสวมใส่ "กางเกงยีนส์" เสื้อผ้าที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่การใช้งานและแฟชั่น แม้ว่ากางเกงชนิดนี้จะมีต้นกำเนิดจากอีกซีกโลกที่ห่างไกล
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่ทำให้กางเกงยีนส์ได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างสูง คือภาพของคาวบอย ชายหนุ่มผู้ขี่ม้าสวมกางเกงยีนส์ ซึ่งความหล่อเหลาและความสง่างามนี้ได้ฝังใจคนรุ่นหลังผ่านภาพยนตร์ ทำให้หลายคนสงสัยว่า สองสิ่งนี้เริ่มต้นเชื่อมโยงกันเมื่อไหร่?
Main Stand จะพาคุณย้อนเวลากลับไปดูประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของการสวมใส่กางเกงยีนส์และการขี่ม้า ที่มีอิทธิพลไปทั่วทุกชั้นชน และอยู่เคียงคู่มนุษย์มาเกินกว่า 100 ปี
Old Wide West
กางเกงยีนส์มีประวัติยาวนานที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ 16 เมื่อมีการผลิตผ้าเดนิมในฝรั่งเศส, อิตาลี และ อินเดีย เพื่อนำมาทำเสื้อผ้าให้กับกะลาสีและกรรมกรท่าเรือที่เมืองท่าต่างๆ เช่น เจนัว และ นีมส์

ด้วยความทนทานและราคาที่เข้าถึงได้ กางเกงยีนส์จึงได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นแรงงานของทวีปยุโรป แต่กว่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกายวิถีชีวิตตะวันตกที่รู้จักไปทั่วโลก ต้องรอจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อกางเกงยีนส์เริ่มเข้ามาสู่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นประเทศแห่งเสรีภาพที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสงครามและความวุ่นวาย โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่เพิ่งได้รับการสำรวจและรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1850s
Old Wild West หรือดินแดนที่เรียกกันว่า “ป่าตะวันตก” คือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมคาวบอยและการขี่ม้า ซึ่งเกิดขึ้นจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการค้าฝ้ายในรัฐแอละแบมาและมิสซิสซิปปี รวมถึงการค้าทาสในรัฐเท็กซัส แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนจนในพื้นที่ได้มากไปกว่าการค้นพบแหล่งทองคำที่แคลิฟอร์เนีย

ในปี 1946 ชาวละตินประมาณ 10,000 คน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมในแคลิฟอร์เนีย ถูกขับไล่ออกจากลอสแอนเจลิสและย้ายไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือ โดยกลุ่มเหล่านี้นำโดย เจมส์ ดับเบิลยู มาร์แชล (James W. Marshall) ที่ได้ค้นพบขุมทองที่ Sutter’s Mill ในเมืองโคโลมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1848 ซึ่งข่าวการค้นพบนี้ทำให้ผู้คนจากทั่วประเทศแห่เดินทางไปยังแคลิฟอร์เนีย
ในปี 1849 ประมาณ 300,000 คนได้เดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งขุมทอง กลุ่มคนเหล่านี้ที่รู้จักกันในภายหลังว่า "Forty-Niners" ได้ตั้งถิ่นฐานในเมืองซานฟรานซิสโก โดยหวังที่จะเสี่ยงโชคและประสบความสำเร็จจากการขุดทอง ซึ่งทองคำที่พวกเขาค้นพบในเวลาต่อมามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทองคำที่มีความหวังว่าจะแปลงชีวิตคนจนที่มาจากทั่วโลกให้กลายเป็นเศรษฐี กลับไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เพราะหลายคนที่เดินทางมายังแคลิฟอร์เนียกลับพบว่าโชคชะตาไม่เป็นใจ หลายคนต้องกลับไปมือเปล่า หลังจากที่ประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจรถไฟ เกษตรกรรม และฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งสร้างเม็ดเงินมหาศาล
แทนที่จะมีกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สิน รัฐแคลิฟอร์เนียกลับยังคงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายใต้กฎ "พนันการอ้างสิทธิ์" ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักในภาพยนตร์คาวบอยดังหลายเรื่อง เช่น Once Upon a Time in the West (1968) กางเกงยีนส์, ขุมทอง, และคาวบอยจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ในแผ่นดินเดียวกัน
ทุกสิ่งที่หลอมรวมในวิถีชีวิตของ Old Wild West จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมตะวันตกหรือ Western ที่เรารู้จักในวันนี้ ซึ่งยังคงเป็นไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จากเหมืองทองสู่หลังม้า
กางเกงยีนส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในแผ่นดินตะวันตกเมื่อคนงานเหมืองทองที่ยากจนต้องการเครื่องแต่งกายที่ทนทานและราคาถูก เพื่อให้เหมาะกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน ซึ่งรวมถึงการยืนในแม่น้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง

แม้ว่าจะมีหลายบริษัทที่ขายกางเกงสำหรับคนงานเหมืองในช่วงแรก แต่ผู้ที่ทำให้กางเกงยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตชาวตะวันตกคือ ลีวาย สเตราส์ นักธุรกิจชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Levi Strauss & Co. ด้วยการเพิ่มหมุดทองแดงเข้าไปในกางเกงยีนส์จนกลายเป็นแฟชั่นที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน แม้แต่ในหมู่ชนชั้นแรงงานอย่างคนงานเหมืองทอง
นอกจากการใช้หมุดทองแดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์แล้ว กางเกงจากแบรนด์ Levi's ยังได้สร้างสรรค์กางเกง "Blue Jeans" หรือกางเกงยีนส์สีฟ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน และมีความโดดเด่นกว่ากางเกงสีน้ำตาลที่เคยมีมาก่อน
ไม่นานหลังจากนั้น กางเกงยีนส์จาก Levi's ก็กลายเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแคลิฟอร์เนีย และความนิยมนี้ก็ขยายออกไปไม่จำกัดแค่เพียงคนงานเหมืองทองอีกต่อไป
ในช่วงปี 1870's คนงานเลี้ยงสัตว์และผู้ต้อนวัวเริ่มหันมาสวมใส่กางเกงยีนส์ เพราะไม่เพียงแต่สวยงามแต่ยังทนทาน กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีส่วนในการพัฒนาแฟชั่นกางเกงยีนส์ให้ทันสมัย โดยการเพิ่มเข็มขัดหัวใหญ่ หรือ Large Belt Buckle ที่ประดับด้วยเหรียญเงิน (Metal Conchos) เพื่อแสดงถึงฐานะของชายผู้ขี่ม้า ซึ่งต่างจากคนงานเหมืองทอง
ในช่วงเวลานั้น วัฒนธรรมการสวมใส่กางเกงยีนส์ควบคู่กับการขี่ม้าเริ่มเป็นที่นิยม ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายแบบ Western Wear ที่ได้รับความนิยมในฝั่งตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยหมวกคาวบอย รองเท้าคาวบอย เข็มขัดหนัง และแน่นอน กางเกงยีนส์

กางเกงยีนส์สีฟ้านี้กลายเป็นเครื่องแต่งกายที่มีค่าสำหรับชายหนุ่มที่ขี่ม้า คาวบอยหลายคนเลือกสวมใส่กางเกงปลอกหนังทับลงไปอีกชั้น เพื่อปกป้องกางเกงยีนส์ของพวกเขาจากการสึกหรออย่างรวดเร็ว
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดกางเกงยีนส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบรนด์ Levi's ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดประสบความสำเร็จจากการผลิตรุ่น 501 และครองตลาดในกลุ่มคนงานเหมือง แต่แบรนด์ใหม่ที่ตามมาคือ Wrangler ก็ได้ประกาศตัวเองเป็นต้นตำรับของกางเกงยีนส์แบบ Cowboy Cut สำหรับคนบนหลังม้าโดยเฉพาะ
กางเกงยีนส์กลายเป็นที่นิยมทั่วทั้งฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม Western แต่การเป็นที่รู้จักทั่วทั้งประเทศเกิดขึ้นหลังจากที่มันถูกสวมใส่โดยคนกลุ่มที่ไม่ใช่แค่ผู้ทำงานหนักและยากจนเหมือนคาวบอยหรือคนงานเหมืองทองในศตวรรษที่ 19
กางเกงยีนส์ในปัจจุบัน
ความทนทานของกางเกงยีนส์ในช่วงเวลาการใช้งานบนหลังม้าได้รับการพิสูจน์แล้วมากกว่า 100 ปีจากคาวบอยในฝั่งตะวันตก แต่สิ่งที่ทำให้กางเกงยีนส์โดดเด่นก็คือการได้รับการยอมรับจากชนชั้นสูงที่ชื่นชอบกีฬาโปโล จนหันมาเลือกใช้กางเกงยีนส์ในการฝึกซ้อมและแข่งขัน

กางเกงยีนส์ผ่านการวิวัฒนาการครั้งสำคัญ จากกางเกงยีนส์สีฟ้าที่โด่งดังในหมู่คนงานแรงงาน กลายมาเป็นกางเกง White Jeans ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับชนชั้นสูง พร้อมกับยังคงคุณสมบัติความทนทานสำหรับการใช้งานบนหลังม้าได้อย่างครบถ้วน
แฟชั่นของกางเกงยีนส์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปี 1955 เมื่อเจมส์ ดีน พระเอกชื่อดังในยุคนั้น สวมใส่กางเกงยีนส์ในภาพยนตร์เรื่อง Rebel Without a Cause (1955) ทำให้การแต่งตัวในสไตล์เสื้อยืดและกางเกงยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัยรุ่นหัวขบถในทันที

กางเกงยีนส์ได้รับความนิยมในวงกว้างหลังจากที่ดาราชื่อดังหลายคนในยุคนั้นเลือกสวมใส่ เช่น มาร์ลอน แบรนโด, เอลวิส เพรสลีย์, และมาริลีน มอนโร ซึ่งทำให้มันกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงของกางเกงยีนส์จากการเป็นเสื้อผ้าสำหรับการใช้งานกลายเป็นแฟชั่นเต็มตัวนั้น เกิดจากการสะท้อนของภาพยนตร์ แต่ภาพยนตร์ยังคงรักษาภาพลักษณ์เดิมของกางเกงยีนส์บนหลังม้าไว้จากความนิยมของ Western Films ที่ถือเป็นแนวภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงปี 1960's และยังคงมีอิทธิพลต่อแฟชั่นคาวบอยในปัจจุบัน

ฟิลลิส นิคคัม ซึ่งเป็นคนต้อนสัตว์ในรัฐเท็กซัส และได้กลายเป็นกูรูในเรื่องการแต่งตัวสไตล์คาวบอย กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า กางเกงยีนส์และคาวบอยคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่ออยู่บนหลังม้า คุณจะไม่สามารถดูดีได้หากไม่มีการสวมใส่กางเกงยีนส์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมตะวันตกมานาน
ไม่ว่าคุณจะมองกางเกงยีนส์ในแง่มุมของการใช้งานหรือแฟชั่น มันไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากางเกงยีนส์เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความทนทานและได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมบนหลังม้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้กางเกงยีนส์มีอิทธิพลในชีวิตมนุษย์ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ
แหล่งอ้างอิง
https://www.racked.com/2015/2/27/8116465/the-complete-history-of-blue-jeans-from-miners-to-marilyn-monroe
หนังสือ Eureka!: The Surprising Stories Behind the Ideas That Shaped the World โดย Marlene Wagman-Geller
หนังสือ Transnationalism and Society: An Introduction โดย Michael C. Howard
https://www.visitamarillo.com/sp/texas-style/
https://web.archive.org/web/20110727033216/http://www.learncalifornia.org/doc.asp?id=118
http://porgorn0010.blogspot.com/2012/07/1849.html
https://www.poloplus10.com/polosport/this-and-that/