- 14 มิถุนายน ค.ศ. 1928 คือวันเกิดของ เช เกวารา ผู้ที่ร่วมปฏิวัติพร้อมกับฟิเดล คาสโตร เพื่อปลดแอกประเทศคิวบาให้ได้รับอิสรภาพจนถึงทุกวันนี้
- ถึงแม้ เช เกวารา จะเป็นสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งของการปฏิวัติปลดแอก แต่ในยุคปัจจุบัน ภาพของเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปผ่านสินค้าเช่น เสื้อยืด เข็มกลัด และแม้แต่บังโคลนรถบรรทุก ทำให้ใบหน้าของเขากลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
เช เกวารา (Che Guevara) คือสัญลักษณ์ของนักปฏิวัติที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชน ซึ่งในปัจจุบัน ภาพของเขาถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ผ่านสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อยืด เข็มกลัด หรือแม้แต่บังโคลนรถบรรทุก พร้อมทั้งคำพูดที่กลายเป็นอมตะจากเพลงของวงคาราบาวที่ว่า
“เชยังไม่ตาย เขาอยู่หลังรถบรรทุก…”
ก่อนที่เขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ในระดับโลกเช่นนี้ ชีวิตของ เช เกวารา เต็มไปด้วยการต่อสู้ตามอุดมการณ์เพื่อปลดแอกประชาชน โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม ที่ในเวลานั้นหลายประเทศยังคงถูกปกครองโดยระบบศักดินา เผด็จการ และทุนนิยมที่กดขี่ประชาชนอย่างรุนแรง

เช เดินทางไปยังอเมริกาใต้ร่วมกับคณะปฏิวัติของ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่จากการเข้าร่วมปฏิวัติคิวบา โดยกองปฏิวัติคอมมิวนิสต์สามารถปลดแอกประชาชนได้สำเร็จ ทำให้ชื่อเสียงของฟิเดลและเช กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างอิทธิพลทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่ฝันถึงโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความเท่าเทียมและเสรีภาพ ปราบปรามเผด็จการที่กดขี่แรงงานประชาชน
ในประเทศไทยมีนักเขียนมากมายที่ได้เขียนถึง เช เกวารา ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน การแปล หรือการเรียบเรียงที่สะท้อนถึงแนวคิดของเขา นักเขียนไทยที่เคยกล่าวถึงเช อาทิ ศรีอุบล, อนุสรณ์ ทรัพย์มนู, สุทธิชัย หยุ่น, ทวี หมื่นนิกร, จิระนันท์ พิตรปรีชา และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เช จึงมีอิทธิพลต่อความคิดในแวดวงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืองานวรรณกรรมที่มักทำให้ย้อนคิดถึงความฝันในวันปฏิวัติ การต่อสู้กับจักรวรรดินิยมเพื่อความเป็นประชาธิปไตย ตามที่เขาเคยกล่าวไว้
“โลกสามารถเปลี่ยนคุณ และคุณก็สามารถเปลี่ยนโลก”

นักเรียนแพทย์ผู้กล้าเดินออกไปผ่าตัดสังคม
ในคืนวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ณ เมืองโรซาริโอ ประเทศอาร์เจนตินา มีทารกเชื้อสายไอริช-สเปนถือกำเนิดขึ้น ไม่นานหลังจากที่เช เกวารา เกิด เขาก็พบกับปัญหาสุขภาพครั้งแรก นั่นคือโรคหืดหอบ ซึ่งเป็นอาการประจำตัวของเขา ทำให้เขาต้องย้ายไปอาศัยที่ อัลตา กราเซีย (Alta Gracia) นานถึง 4 ปี เนื่องจากเขาไม่สามารถทนกับอากาศในเมืองใหญ่ได้
เมื่อเชเติบโตและเข้าสู่โรงเรียนมัธยม เขามุ่งมั่นที่จะออกกำลังกายและฝึกร่างกาย จนกระทั่งโรคหืดหอบที่เขาต้องเผชิญมีอิทธิพลต่อตัวเขามากจนทำให้เลือกเรียนแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัย และไม่ว่าจะเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็ตาม ในที่สุดโรคนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ผลักดันให้เขากลายเป็นนักปฏิวัติ
ในปี ค.ศ. 1947 ขณะที่เชกำลังศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส เขาเริ่มออกเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับโรคหืดหอบโดยขี่มอเตอร์ไซค์จากเหนือจรดใต้ของประเทศ ทำให้เชได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และสัมผัสถึงความยากลำบากของชนเผ่าพื้นเมืองที่เขาพบเจอ
หลังจากการเดินทางสำรวจนี้ไม่ไม่นาน ในปี ค.ศ. 1951 เชและ อัลเบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) เพื่อนสนิทของเขาตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาไปไกลกว่าประเทศของตัวเอง โดยเดินทางท่องทั่วอเมริกาใต้ จากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของชิลี เปรู โคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ระหว่างการเดินทาง พวกเขาหางานทำทั่วไปเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับชีวิตประจำวัน

ในปี ค.ศ. 1953 หลังจากได้รับใบรับรองการศึกษา เชได้ตัดสินใจทิ้งความมั่นคงในชีวิตและขัดกับความต้องการของพ่อตนเองที่อยากให้เขาทำงานเป็นแพทย์ในบัวโนสไอเรส โดยเดินทางต่อไปยังเปรู กัวเตมาลา และโบลิเวีย ซึ่งในขณะนั้นประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองและการปฏิวัติที่ตึงเครียด ทำให้เขาได้เรียนรู้ด้านสังคมและการเมืองจากประสบการณ์การเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการปฏิวัติจริงๆ
ตัวอย่างเช่นที่กัวเตมาลา ในเวลานั้นเกิดการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มปัญญาชน การปฏิวัติในกัวเตมาลาไม่ได้เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ยังรวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของรัฐใหม่ โดยนโยบายสำคัญคือการทวงคืนที่ดินจากบริษัททุนขนาดใหญ่ของมหาอำนาจอเมริกามาคืนให้กับชาวนาประชาชนที่เคยถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบทุนนิยมมาก่อนหน้านี้
เหตุการณ์ปฏิวัติในกัวเตมาลาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เชได้เห็นความโหดร้ายของจักรวรรดิทุนนิยม โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจแทรกแซงผ่านการปฏิบัติการของ CIA ซึ่งทำให้รัฐบาลกัวเตมาลาที่นำโดยกลุ่มปฏิรูปที่ต่อต้านผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอเมริกา ต้องล่มสลาย อเมริกาและทุนนิยมกลายเป็นศัตรูของประชาชนแรงงาน ช่วงเวลานั้นกลายเป็นจุดกำเนิดของไฟในการปฏิวัติที่โหมในตัวเช

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เชเป็นที่จดจำข้ามเวลา คือการเข้าร่วมกลุ่มปฏิวัติของ ฟิเดล คาสโตร ซึ่งในขณะนั้น คาสโตรเพิ่งพ่ายแพ้ในการปฏิวัติผู้นำเผด็จการ ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา ที่คิวบา เชได้เข้าร่วมกับคาสโตรและพวกอีก 82 คนในการปฏิวัติคิวบาอีกครั้ง ผลคือกลุ่มปฏิวัติถูกบาติสตาสามารถเอาชนะได้และเหลือเพียงแค่ 12 คนที่รอดกลับมา
เชกับสหายอีก 4 คนหนีเอาตัวรอดได้ด้วยความช่วยเหลือจากชาวบ้านและชาวนา ทำให้เชเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างฐานรากการปฏิวัติ โดยการเผยแพร่แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีด และมีความสุขด้วยการไม่พึ่งพาทุนนิยม
หลังได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน เชและคาสโตรได้นำแผนการใหม่โดยมีชาวนาและประชาชนเข้าร่วมในการทำสงครามจิตวิทยาและการต่อสู้แบบกองโจร จนสามารถปฏิวัติบาติสตาสำเร็จในปี ค.ศ. 1959 คาสโตรสามารถสร้างคิวบาใหม่ภายใต้การนำของคณะปฏิวัติได้สำเร็จ และเชได้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติของคิวบาภายใต้รัฐบาลของคาสโตร

ฝ่ายคาสโตรที่ได้ปกครองคิวบามายาวนานได้พยายามขอคืนกระดูกของเชจากรัฐบาลโบลิเวียมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1997 เมื่อครบ 30 ปีหลังการเสียชีวิตของเช รัฐบาลโบลิเวียจึงได้ส่งกระดูกของเชกลับคืน กระดูกของเชที่ได้รับคืนสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติและความสำเร็จที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในทุกๆ ที่บนโลกใบนี้
บทเรียนสำคัญจากการปฏิวัติคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ชาวนา และแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะในคิวบา บทเรียนนี้ยังคงอยู่แม้ว่าร่างกายของเขาจะสลายไปตามกาลเวลา แต่แนวคิดและอุดมการณ์ของเชยังคงเป็นที่จดจำและยั่งยืนไปตลอด
ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) ปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในด้านอัตถิภาวนิยมจากฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงเช เกวารา ไว้ว่า
“การมีอยู่ของมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งยุค”
Fact File
-หากท่านสนใจติดตามเรื่องราวการปฏิวัติในคิวบาเพิ่มเติม สามารถรับชมสารคดี The Cuba Libre Story ซีรีส์กึ่งสารคดีทางช่อง Netflix
อ้างอิง
-เช ยังไม่ตาย เขียนโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. สำนักพิมพ์นาคร. 2557
-CHE GUEVARA เช เกวารา เขียนโดย วัฒน์ระวี. สำนักพิมพ์แสงดาว. 2559
-https://www.britannica.com/biography/Che-Guevara
-ภาพยนตร์สารคดี El che(2017) โดย Matías Gueilburt