
คำมูล ถือเป็นหน่วยคำที่เล็กที่สุดในภาษา โดยเป็นคำที่มีความหมายครบถ้วนในตัวเอง ไม่สามารถแบ่งย่อยได้อีก มักเป็นคำที่ปรากฏในภาษามาตั้งแต่โบราณ อาจเป็นคำไทยดั้งเดิมหรือคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น รวมถึงคำที่สร้างขึ้นใหม่ในภาษาไทยโดยเฉพาะ เป็นคำที่ยังไม่ได้นำไปผสมกับคำอื่น อาจเป็นคำพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ และอาจมีความหมายได้หลายแบบ
ลักษณะสำคัญของคำมูล
- เป็นคำที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง
- เป็นคำที่ปรากฏในภาษามาตั้งแต่เดิม
- อาจมีเพียงพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์
- สามารถเป็นคำประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน
- อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำที่มาจากภาษาอื่น
บทบาทและหน้าที่ของคำมูล
คำมูลสามารถทำหน้าที่เป็นคำประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน
คำมูลสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก
คำมูลพยางค์เดียว หมายถึง คำที่ออกเสียงเพียงครั้งเดียวและมีความหมายชัดเจนในตัวเอง บางคำอาจมีความหมายเดียว ในขณะที่บางคำอาจมีความหมายหลากหลาย
- คำไทย เช่น คน ไก่ ไข่ ฉัน เด็ก
- คำที่มาจากภาษาจีน เช่น เตี่ย ก๋ง เจ๊ ก๊ก
- คำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น เมตร เชิ้ต โค้ก เค้ก
- คำที่มาจากภาษาเขมร เช่น แข ขาล เฌอ จาร กราน
คำมูลหลายพยางค์ คือ คำที่ประกอบด้วย 2 พยางค์ขึ้นไป มีความหมายชัดเจนและสมบูรณ์ในตัวเอง อาจเป็นคำไทยแท้หรือคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น และอาจมีความหมายเดียวหรือหลายความหมาย
- คำไทย เช่น ขนม กระถาง ประตู มะละกอ
- คำที่ยืมมาจากภาษาจีน เช่น กุยเฮง ซินแส ตงฉิน
- คำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษ เช่น โปรแกรม เอเย่นต์ ออฟฟิศ
- คำที่ยืมมาจากภาษาเขมร เช่น ตังหวาย เขนย ฉนำ เสร็จ
- คำที่ยืมมาจากภาษาชวาและมลายู เช่น บุหรง บุหงา บุหลัน วิรังรอง สะตาหมัน