
ในช่วงฝนตกหนัก มีความเชื่อหนึ่งที่มักถูกพูดถึงคือ 'ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะอาจถูกฟ้าผ่า' ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และมีการทดสอบทางวิทยาศาสตร์รองรับแล้ว
การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะฝนตกไม่ทำให้เกิดฟ้าผ่า
ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า 'ทั้งสัญญาณโทรศัพท์และตัวเครื่องมือถือ ไม่ได้ดึงดูดหรือทำให้เกิดฟ้าผ่า'
ข้อมูลจาก ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า
ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง เมื่อเมฆเคลื่อนที่ ลมจะก่อให้เกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของน้ำและน้ำแข็งภายในเมฆ ส่งผลให้เกิดการแยกตัวของประจุไฟฟ้า โดยประจุลบมักอยู่ด้านล่างของเมฆ ส่วนประจุบวกจะอยู่ด้านบน
ทุกพื้นที่ใต้เมฆฝนฟ้าคะนองมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่า ไม่ว่าจะเป็นที่สูง ที่ต่ำ หรือกลางแจ้ง แต่จุดที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือพื้นที่โล่ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ รวมถึงจุดสูงในบริเวณนั้น เช่น ต้นไม้หรืออาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสพบกันได้เร็วที่สุด
วัตถุที่ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าที่สุดคือสิ่งของที่อยู่สูงเหนือศีรษะ โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่มีปลายโลหะแหลม
โลหะและโทรศัพท์มือถือไม่ถือเป็นตัวล่อฟ้า เนื่องจากโทรศัพท์มือถือขณะใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวผู้ใช้ และพลังงานจากสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ มีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่าอาจทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรและระเบิดได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ฟ้าผ่า
อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองจัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากหากน้ำเข้าไปในเครื่อง อาจทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้เช่นกัน
สรุปได้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกไม่ทำให้ถูกฟ้าผ่า เนื่องจากทั้งสัญญาณและตัวเครื่องโทรศัพท์ไม่ใช่ตัวล่อฟ้า ควรระมัดระวังการอยู่กลางแจ้ง พื้นที่โล่ง หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ในช่วงฝนตกจะปลอดภัยกว่า