เหี้ย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Varanidae หรือ Varanus ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีประวัติวิวัฒนาการยาวนานกว่า 300 ล้านปี เป็นสัตว์กินเนื้อและมักกินซากสัตว์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากช่วยกำจัดซากสัตว์ที่ตายแล้ว
เหี้ยเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายจระเข้ หางแข็งแรงและยาว ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ลิ้นแยกเป็นสองแฉก คล้ายงู ใช้รับรู้สิ่งแวดล้อม ขามีเล็บแหลมคมสำหรับขุดหลุม ปีนต้นไม้ และป้องกันตัว เกล็ดมีลักษณะเป็นตุ่มนูน สีสันและลวดลายแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งทะเลทราย ป่าดิบ และชุมชนเมือง นอกจากนี้ ยังว่ายน้ำและดำน้ำได้เก่ง บางชนิดชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำ
ในประเทศไทยพบเหี้ย 6 สายพันธุ์หลัก แม้ไม่มีพิษโดยตรง แต่ในน้ำลายมีแบคทีเรียสะสม หากถูกกัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลได้
เหี้ย / มังกรดอก / ตัวเงินตัวทอง

Water Monitor ; Varanus salvator เป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในตระกูล Varanus ที่พบในประเทศไทย ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำและพบได้ทั่วทุกภาค สามารถปีนต้นไม้และกินซากสัตว์เป็นอาหาร ลำตัวสีดำมีลายดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อนพาดขวาง หางมีสีดำหรือลายปล้องสลับสีเหลืองอ่อน บางตัวอาจมีจุดแดงเล็กๆ ที่หาง
เห่าช้าง

Roughneck monitor lizard ; Varanus rudicollis มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย ผิวและหางสีดำสนิท มีลายจางๆ เป็นปื้นหรือปล้องตามลำตัว หัวสีเทาคล้ำและมีเกล็ดตะปุ่มตะป่ำบริเวณคอ พบได้ยาก มักอาศัยในป่าทึบทางภาคใต้และตะวันตก เป็นสัตว์ที่ดุมาก เมื่อตกใจหรือถูกคุกคามจะพองคอและขู่ฟ่อๆ จึงได้ชื่อว่า “เห่าช้าง”
ตะกวด

Bengal monitor ; Varanus bengalensis ชอบอาศัยในพื้นที่แห้งและบนต้นไม้ เนื่องจากปีนต้นไม้ได้เก่ง มักพบในป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ และกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลำตัวมีสีพื้นเหลืองอ่อน เหลืองหม่น หรือน้ำตาล ไม่มีลวดลายเหมือนเหี้ย หัวมักมีสีอ่อนกว่าลำตัว และมีหางเรียวยาวเป็นพิเศษ วิธีแยกตะกวดจากเหี้ยคือ “เหี้ยมีจมูกใกล้ปลายปาก ชอบอยู่ในน้ำ ส่วนตะกวดมีจมูกใกล้ตา ชอบอยู่บนต้นไม้”
เหี้ยดำ หรือ มังกรดำ

Black water monitor, Black dragon ; Varanus salvator komaini มีลักษณะคล้ายเหี้ยแต่ขนาดเล็กกว่า ลำตัวสีดำด้านทั้งตัว ท้องสีเทาเข้ม และลิ้นสีเทาม่วง มักพบในภาคใต้ ชายฝั่งทะเล และเกาะเล็กๆ
แลนดอน

Yellow monitor ; Varanus flavescens มีลักษณะคล้ายตะกวด แต่หัวมีสีเหลืองสดหรือสีส้ม ชอบอาศัยในพื้นที่สูง จึงถูกเรียกว่าแลนดอน มักพบตามเขตชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า
ตุ๊ดตู่

Red-headed Monitor (Harlequin Monitor) ; Varanus dumerilii เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในตระกูล Varanus ของไทย แต่มีสีสันและลวดลายที่สวยงามที่สุด จึงมักถูกลักลอบจับบ่อยครั้ง ลำตัวมีสีน้ำตาลเทา พร้อมลายวงแหวนสีอ่อน หัวสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ใต้คอมีสีอ่อนเกือบขาว มักพบในภาคใต้เป็นหลัก