
“ฝนมาแล้ว รีบปักตะไคร้” เป็นวลีที่คนไทยคุ้นเคย ทั้งพูดเล่นๆ และปฏิบัติจริงจังตามความเชื่อเรื่องการปักตะไคร้เพื่อไล่ฝน คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าความเชื่อนี้มีที่มาอย่างไร และทำไมต้องใช้ตะไคร้ วันนี้เราจะมาสรุปให้เข้าใจง่ายๆ
การปักตะไคร้ไล่ฝนเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องเทพเจ้าที่ไม่พอใจ
ฝนที่ตกตามฤดูกาลนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ทำให้หลายพื้นที่ทั่วโลกนับถือเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ฝนตกตามต้องการ เพื่อความอยู่รอดและความสมบูรณ์ของชีวิต
แล้วจะทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ แน่นอนว่าต้องทำให้เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจ เช่น ในประเทศไทยมีการจัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพระยาแถน ขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล
หากคิดแบบง่ายๆ เมื่อเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจก็จะทำให้ฝนตก แต่หากไม่พอใจก็อาจทำให้ฝนหยุดตกเช่นกัน จากข้อมูลที่ค้นพบ การปักตะไคร้ไม่ได้ระบุที่มาชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อใดหรือโดยใคร ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อและเรื่องเล่าที่อ้างอิงจากแนวคิดที่ว่า หากเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์โกรธเพราะมนุษย์ทำสิ่งผิดธรรมชาติ เช่น การปักตะไคร้โดยให้ปลายชี้ลงดินและโคนชี้ขึ้นฟ้า เทพอาจสั่งให้ฝนหยุดตกทันทีเนื่องจากความโกรธ
ต้องเป็นสาวพรหมจรรย์เท่านั้นที่ปักตะไคร้ได้หรือไม่?
จากการค้นพบข้อมูล พบว่าทุกพื้นที่มีความเชื่อแตกต่างกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ปักตะไคร้ เช่น ต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ บางพื้นที่อาจกำหนดให้เป็นลูกชายคนโตที่ยังไม่แต่งงาน ลูกสาวคนเล็กที่ยังโสด แม่หม้าย หรือแม้แต่เด็กผู้หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน
หากสังเกตให้ดี จะพบว่าความเชื่อเหล่านี้มีจุดร่วมกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัว ในขณะที่กลุ่มคนที่กล่าวมาถือเป็นสัญลักษณ์ของความตรงกันข้าม นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับคติความเชื่อของคนไทยที่เลือกกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อประกอบพิธีกรรม
สรุปแล้ว ความเชื่อเรื่องการปักตะไคร้ไล่ฝนเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาโดยไม่มีหลักฐานบันทึกชัดเจน หลายคนสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากแนวคิดที่ว่าเทพเจ้าหากไม่พอใจก็สามารถสั่งให้ฝนหยุดตกได้ ติดตามสาระความรู้แบบนี้เพิ่มเติมได้ที่ iNN Lifestyle