
ก่อนหน้านี้ มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับข้อห้ามที่ว่า ชาวต่างชาติไม่สามารถประกอบอาชีพตัดผมในประเทศไทยได้ เนื่องจากอาชีพนี้สงวนไว้เฉพาะคนไทยเท่านั้น ซึ่งก็เกิดคำถามตามมาว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ เพราะเราก็เห็นชาวต่างชาติทำงานตัดผมอยู่มากมาย คำตอบคือเรื่องนี้เป็นความจริง หากอ้างอิงตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
ตามประกาศพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงแรงงานที่แก้ไขเพิ่มเติม เรื่องการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งมีทั้งหมด 40 งาน โดยมีงานที่ห้ามเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่
- งานแกะสลักไม้
- งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift)
- งานขายทอดตลาด
- งานเจียระไนเพชร/พลอย
- งานตัดผม/เสริมสวย
- งานทอผ้าด้วยมือ
- งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้จากกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ
- งานทำกระดาษสาด้วยมือ
- งานทำเครื่องเขิน
- งานทำเครื่องดนตรีไทย
- งานทำเครื่องถม
- งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก
- งานทำเครื่องลงหิน
- งานทำตุ๊กตาไทย
- งานทำบาตร
- งานทำผ้าไหมด้วยมือ
- งานทำพระพุทธรูป
- ทำร่มกระดาษ/ผ้า
- งานนายหน้า/ตัวแทน
- งานนวดไทย
- งานมวนบุหรี่
- งานมัคคุเทศก์
- งานเร่ขายสินค้า
- งานเรียงอักษร
- งานสาวบิดเกลียวไหม
- งานเลขานุการ
- งานบริการทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวจากประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น
- งานเกษตรกรรม
- งานช่างก่อสร้าง/ช่างไม้/ช่างก่ออิฐ
- งานผลิตที่นอน
- งานผลิตมีด
- งานผลิตรองเท้า
- งานทำหมวก
- งานออกแบบและประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
งานปั้นเครื่องปั้นดินเผา สามารถให้คนต่างด้าวทำได้เฉพาะงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ โดยต้องมีนายจ้างเท่านั้น
รวมถึงงานกรรมกรและงานขายหน้าร้าน ซึ่งอนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้เฉพาะกรณีที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง ภายใต้ข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
อยากทราบความคิดเห็นของทุกคนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเสียงตอบรับแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย