มากกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาที่กาย ทรีเบย์ได้หลีกเร้นมาพักผ่อนในมุมสงบเงียบของทมิฬนาฑูตอนใต้ แม้ว่าภาพของวัดวาอารามและอาคารที่น่าประทับใจจะเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคย แต่เขากลับพบว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการผจญภัยแบบไม่มีแผนล่วงหน้า
‘กูน่าน้อย’ เดินกระโดดมาหาผม พร้อมเสียงตะโกนว่า “ห้าร้อยรูปีครับนายท่าน” เขาคลี่โปสการ์ดที่มีภาพวาดการบำเพ็ญตบะของพระอรชุน หนึ่งในเทพเจ้าของฮินดู ภาพของวัดชอร์ที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่แปด และภาพของยักษ์ที่ยกก้อนเนยของพระกฤษณะขึ้นเหนือพื้น
ผมสังเกตเห็นว่ากูน่าทานสีแดงที่เล็บนิ้วโป้งของเขา “แพงไปกูน่า แพงไป” ผมพูดพลางหัวเราะขณะที่ลมทะเลอ่อนๆ พัดมาอยู่ในอากาศ ล่องลอยไปทั่วกลุ่มวัดมหาบาลีปุรัมที่ตั้งอยู่ริมหาด
“ห้าสิบ” ผมต่อรองราคา “โอเค ได้นายท่าน” กูน่าตอบรับทันที เขาเป็นชายตัวเล็กไม่ต่างจากเด็ก แต่น่าจะมีอายุราวๆ 50 ปี เขาบอกผมว่าเขาอายุ 20 ตอนเราเจอกันครั้งแรก แล้วก็พูดว่า 30 แต่ท่าทางและใบหน้าของเขาดูจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามวัย
“ครั้งแรกของวันนี้แล้วนะ” กูน่าร้องด้วยความตื่นเต้น การขายได้ครั้งแรกในวันนั้นในอินเดียถือว่าเป็นเรื่องมงคล และไม่ทันไร กูน่าก็หายตัวไปในซุ้มหลังของหางนกยูง ขณะที่ผมก็เดินต่อไปยังวัดชอร์ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเป็นมรดกโลก ในเช้าสงบเงียบของเดือนเมษายน ผมรู้สึกเหมือนว่าที่นี่มีแค่ผม หมาจรจัดขี้เซา และนกที่พูดคุยกันเท่านั้น

เพื่อนของผมมักไม่เชื่อเมื่อผมเล่าเรื่องความเงียบสงบแบบนี้ในอินเดีย เพราะมันตรงข้ามกับภาพที่สื่อต่างๆ พูดถึงอย่างต่อเนื่องซึ่งมักจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายและสกปรก ผมเข้าใจดีว่าทำไมพวกเขาถึงไม่เชื่อ เพราะอินเดียมีประชากรมากถึง 1.25 พันล้านคน และจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนจีน
แต่ประชากรเหล่านั้นหายไปไหนกัน? คนจำนวนมากในอินเดีย (และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ได้หลบหนีความยากจนจากภูมิภาคที่ห่างไกลและมุ่งสู่เมืองเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมเองก็เดินทางมาที่นี่เพื่อแสวงหาความสงบในใจเสมอ

เชตินาถ... เมืองที่เคยรุ่งเรืองตอนนี้ถูกทิ้งร้าง
ตอนที่อยู่ในนิวเดลี เพื่อนศิลปินของผมชื่อเดยานิตา สิงห์ พาผมไปทานอาหารเช้าที่โรงแรมทัชมาฮาล และเล่าเรื่องราวของงานเวนิซเบียนนาเล่ครั้งล่าสุด เดยานิตามักกลับมาที่บ้านเกิดของเธอหลังจากท่องโลก เพื่อมาเก็บของและมุ่งหน้าไปยัง Goa ทันที เพราะเธอซื้อบ้านสไตล์โคโลเนียลโปรตุเกสที่นั่นเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้เธอบอกว่า Goa กลายเป็น ‘แฮมป์ตันแห่งอินเดีย’ ไปแล้ว มีทั้งโรงแรมหรู ร้านอาหารชั้นเลิศ และงานปาร์ตี้เต็มไปหมด เธอจึงมองหาสถานที่ใหม่ๆ เพื่อหลบหนีจากความวุ่นวายที่มาอย่างไม่หยุดหย่อนของกลุ่มครีเอทีฟรุ่นใหม่ของอินเดีย และเลือกเดินทางไปทางทิศใต้ของประเทศแทน
และเธอก็เลือกไปที่เมืองแห่งอารามในทมิฬนาฑู เมืองเดียวกับที่ผมมักจะไปพักผ่อนหลบความวุ่นวายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เมืองอย่างมหาบาลีปุรัม หรือคังไคคอนดา โจฬะปุรัม (ชื่อที่อาจจะทำให้ลิ้นพันกันและยังไม่โด่งดังมากนัก) ไปจนถึงเมืองมธุไร จุดหมายแสวงบุญสำคัญของชาวฮินดู
จู่ๆ ผมก็เกิดความคิดอยากจะไปยังเมืองเชตินาถ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งคฤหาสถ์
เกือบยี่สิบปีแล้วที่ผมเดินทางโดยรถออโต้ (รถตุ๊กตุ๊กอินเดีย) ไปตามชายฝั่งโคโรแมนเดลจนถึงวัดชอร์ ตลอดทางเรามักพบอุปสรรคจากเกวียนที่ถูกลากด้วยวัว จึงต้องหาทางเลี่ยงไปตามเส้นทางที่พาเราไปยังพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง ที่เต็มไปด้วยต้นปาล์มสองข้างทาง จนในที่สุดก็ถึงใจกลางทมิฬนาฑู
ในเวลานั้น เมืองเชตินาถเหมือนดินแดนที่หลับใหลในการจำศีลอันยาวนาน หมู่บ้านถูกแยกออกจากกันด้วยคูน้ำ ผมรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางในความฝัน ขณะที่รถของเราวิ่งไปตามทุ่งนาเรียบง่าย กอต้นปาล์ม และเฟื่องฟ้าที่มีสีสันสดใส จนกระทั่งต้องหยุดยืนด้วยความตะลึงเมื่อมาถึงหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยคฤหาสถ์หรูหราอลังการที่เรียงรายไปตามถนน
ไม่ว่าจะดูเหมือนฉากในหนังยังไง ที่นี่ก็เป็นความจริงอย่างแน่นอน และที่สำคัญมีอยู่มากมาย หมู่บ้านนี้สร้างขึ้นโดยกลุ่มชาวนัตตุโกตไตเศรษฐี (Nattukottai Chettiar) ซึ่งเป็นกลุ่มคนในวรรณะไวศยะหรือพ่อค้า สร้างขึ้นในสามระลอกจากกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช สถาปัตยกรรมที่นี่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายวัฒนธรรม ทั้งวิคตอเรียน, อินโด-ซาราเซนิค และอินเดียใต้แบบดั้งเดิม แม้จะดูเหมือนเป็นการหลอมรวมกันจากหลายที่ แต่การสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีขนาดใหญ่โตและอายุเก่าแก่เช่นนี้กลับทำให้มันดูน่าสนใจและตระการตา
ในเชตินาถ บ้านที่มีจำนวนห้องตั้งแต่ 50 ถึง 100 ห้องเป็นเรื่องธรรมดา ความร่ำรวยของเจ้าของบ้านมาจากการค้าขายที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น ภายในบ้านเหล่านี้เต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่าจากหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่เครื่องเงินสำหรับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แชนเดอเลียร์คริสตัลโบฮีเมียน พื้นหินอ่อนลายหมากรุก ไปจนถึงเสาห้องโถงที่ทำจากไม้สักพม่าทั้งต้น

หลายทศวรรษที่คฤหาสถ์เหล่านี้ถูกทอดทิ้ง ของมีค่าเก็บไว้ในผ้าขาวบาง ชาวบ้านดูแลเท่าที่พอมีโอกาส แต่เมื่อไม่นานมานี้ เชตินาถเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีนักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลมาที่นี่ เพราะดึงดูดด้วยประวัติศาสตร์ที่ลึกลับและแปลกประหลาด โรงแรมบูติกเก๋ๆ ก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการ
โรงแรมที่ผมชอบพักที่สุดคือเดอะ บังคลา ซึ่งดำเนินการโดยมาดามมินากษี สตรีวัยแปดสิบผู้ดำเนินธุรกิจสุดหรูที่สามารถพาแขกเข้าชมคฤหาสถ์ต่างๆ ที่ปกติแล้วเข้าชมไม่ได้ ทุกครั้งที่ผมไปเยือน จะรู้สึกเหมือนล่องลอยผ่านห้องบอลล์รูมที่ว่างเปล่า คอร์ทยาร์ดที่ล้อมรอบด้วยเสาสูงใหญ่ และภาพของบรรพบุรุษชาวเศรษฐีที่จ้องมองเราจากภาพติดผนัง
ครั้งนี้ที่ผมกลับมาเชตินาถ มาด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ไม่ใช่เพียงแค่การมาสัมผัสความเงียบสงบของท้องถิ่น หรืองานศิลปะจากยุคราชวงศ์โจฬะที่หาชมยาก แต่ครั้งนี้ผมมาที่นี่เพื่อ...กิน
ในช่วงหลังๆ ตำราการทำอาหารแบบชาวเศรษฐีได้รับความนิยมในวงการอาหารโลก เชฟตะวันตกได้เรียนรู้ถึงศิลปะในการใช้เครื่องเทศและการปรุงอาหารที่ละเอียดอ่อน เมนูต่างๆ อย่างไก่บังคลา พริกไทยดำ, แกงกะหรี่ปูมะขาม, แกะทอด และกุ้งยักษ์ใส่หอมแดง กลายเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ที่หลั่งไหลไปเรียนการทำอาหารที่โรงแรมเดอะ บังคลา ครัวของที่นี่ปัจจุบันได้รับการดูแลโดยเชฟคารูเปียในวัยเจ็ดสิบ เชฟผู้มีพรสวรรค์สูงจนแม้แต่โรงแรมในมัทราสก็พยายามจะดึงตัวเขาไป แต่ไม่สำเร็จ พนักงานของเดอะ บังคลาถือว่าโรงแรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมานาน สำหรับผม มันคือลักษณะเก่าแก่ของเดอะ บังคลา ที่ทำให้ผมต้องกลับมาเยี่ยมเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า

ความรุ่งเรืองและโรยราที่โจฬะปุรัม
ระหว่างที่เรานั่งรถจากเมืองเชนไนลงใต้ไปยังรีสอร์ตฟิชเชอร์แมนส์ โคฟ ผมมาเยี่ยมที่นี่ครั้งล่าสุดในปี 2004 ก่อนที่สึนามิจะทำลายทุกสิ่งจนเกือบหมด ตอนนี้รีสอร์ตหลายแห่งฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม สวนสวยเขียวขจีราวกับไม่เคยถูกทำลาย บ้านพักหลายหลังตั้งอยู่ติดกับทะเล สามารถมองเห็นคลื่นที่กระทบชายฝั่งได้อย่างชัดเจน ยากที่จะเชื่อว่าสถานที่นี้เคยถูกทำลายจนหมดสิ้น
ผมไปเยือนที่นั่นในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลจิตธิไรตามปฏิทินของชาวทมิฬ นับเป็นช่วงเวลาอันพิเศษสุดยกเว้นแต่เพียงอากาศ ชาวบ้านได้บรรยายไว้อย่างขำขันว่า “ร้อน, ร้อนมาก, ร้อนที่สุด!” ถึงกระนั้น อากาศในช่วงนี้กลับมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อย เพราะกระแสน้ำหลงฤดูจากใต้ไหลขึ้นมาตามชายฝั่ง ส่งผลให้อากาศอุ่นขึ้น และอุณหภูมิประมาณ 20 องศานั้นอาจสร้างความยุ่งยากให้กับชาวบ้าน แต่สำหรับผมแล้วมันกลับรู้สึกเหมือนกับโชคดีอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อกลับถึงโรงแรมเดอะ บังคลา กิจวัตรของผมคือการนั่งที่ระเบียงและวางแผนการเดินทางสำหรับวันถัดไป หนึ่งในสถานที่ที่ผมตั้งใจจะไปคือศาลหินตัดบูชาพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการขจัดอุปสรรคและมีศีรษะเป็นช้าง ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้คน เมื่อไปถึงวัดปิลไลยาร์ปัตติ พอดีกับช่วงที่กำลังประกอบพิธีสรงน้ำพระพิฆเนศ ผมจึงยืนร่วมคิวกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เพื่อเข้าสู่วิหารและนำเครื่องบูชามอบให้กับนักบวช ก่อนที่จะนำไปคล้องหลวมๆ รอบคอพระพิฆเนศและทำพิธีบูชา

ผมเดินทางไปยังวัดหลายแห่งในโจฬะปุรัม และแทบจะพบเจอแค่ตัวเอง หรือไม่ก็มีแค่ฝูงวัวสีขาวและชาวปัญจาบไม่กี่คน เมษายนนั้นค่อนข้างเงียบสงบกว่าที่คิด เมื่อเทียบกับในยุคสมัยที่กษัตริย์ราเชนตรา โจฬะที่หนึ่งครองแผ่นดิน ซึ่งขอบเขตอาณาจักรของพระองค์ครอบคลุมดินแดนในภาคใต้แทบทั้งหมด รวมถึงศรีลังกา สุมาตรา กัมพูชา มาเลเซีย และบังคลาเทศ และที่คังไคคอนดาเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง
ความรุ่งเรืองในอดีตที่ผมเห็นเหลืออยู่เพียงครอบครัวปัญจาบที่กำลังปิกนิกพร้อมกับดื่มโค้กกันอยู่ ผมเองก็ซื้อกระป๋องหนึ่งมาเพื่อดื่ม ระหว่างนั้นผมคิดว่าได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่มากเกินไปแล้ว และการกลับไปที่เดอะ บังคลาอาจจะใช้เวลาไม่คุ้มค่า จึงลองเสกสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ตัวเองโดยการกวัดแกว่งมือถือไปมา จนสุดท้ายด้วยอำนาจกูเกิลผมก็สามารถหาที่พักใกล้ๆ ได้ ซึ่งโรงแรมแห่งนั้นก็มีคนขับรถรู้จัก เขาบอกว่าในช่วงปลายฤดูท่องเที่ยวก็ยังมีห้องว่างอยู่ แต่โรงแรมที่ผมจะพักนั้นเป็นโรงแรมมังสะวิรัติ ซึ่งไม่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผมจึงเริ่มกังวลว่าหลังจากการเดินทางยาวนานในวันที่ร้อนแบบนี้ จะไม่รู้จะต้อนรับด้วยอะไรดีไปกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ระหว่างทางไปโรงแรม ผมและคนขับรถต้องเสาะหาจุดขายแอลกอฮอล์ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล จนกลางทางเราเจอร้านขาย เขากระโดดลงไปซื้อเบียร์ขนาด 40 ออนซ์ที่มีฉลากว่า 10,000 โวลต์ กลับมาถือในถุงพลาสติก คนขับบอกว่าที่ร้านยังมีขนาด 5,000 โวลต์และ 2,000 โวลต์ เขาคิดว่าคงรู้จักลูกค้าของตัวเองดีพอเลยเลือกดีกรีมาให้ผม ระหว่างทางที่ผมนั่งกังวลว่าเบียร์นี้จะทำให้ผมกลายเป็นเอมี ไวน์เฮาส์ หรือเปล่า ทิวทัศน์รอบตัวทำให้ผมหลุดเข้าไปในหนังของสัตยาจิต เรย์

สองข้างทางเป็นป่าทึบสลับกับหมู่บ้านเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ ระหว่างนั้นมีสุนัขนอนเอกเขนกอยู่กลางถนนบ้าง เมื่อเราขับเข้าสู่ถนนที่แคบลง รถของเราต้องคอยหลบหลีกเกวียนที่ถูกวัวลากจนในที่สุดเราก็มาถึงรีสอร์ตมันตรา ซึ่งล้อมรอบด้วยสวนมะม่วงและป่าสัก มีต้นปาล์มสูงสง่า และบังกะโลปูนปั้นเรียงรายไปตามแนวทางเดิน พร้อมศาลานั่งเล่นที่ยื่นออกไปยังลำคลองเล็กๆ ผมเห็นลิงแอบซุ่มอยู่หลังต้นไม้ และนกยูงสวยงามที่ยืนสง่าบนซุ้มปะรำ หลังจากเช็กอินแล้ว ผมไปอาบน้ำกลางแจ้ง ก่อนจะไปที่สระว่ายน้ำเพื่อผ่อนคลายใต้แสงจันทร์
แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่านั้นคือเมื่อผมลงไปที่ศาลารับประทานอาหาร และพนักงานเสิร์ฟในชุดขาวสะอาดได้แจ้งกับผมว่า กฎหมายห้ามดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่มีผลบังคับใช้กับชาวต่างชาติ จากนั้นเขาก็ยื่นขวดเบียร์คิงฟิชเชอร์เย็นจัดมาให้ พร้อมบอกอย่างแจ่มใสว่าในคืนนี้ผมคือแขกคนเดียวของมันตรา ซึ่งที่นี่ก็เหมือนเป็นอาณาจักรของผม
ในชีวิตของทุกคน จะมีบางคืนที่เราหลับไปพร้อมกับมนต์เสน่ห์ของนิทานที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม คืนนั้นผมหลับไปอย่างนั้น และตื่นขึ้นในเช้าวันถัดมาอย่างสดชื่น ผมเก็บข้าวของใส่กระเป๋าและเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไกล 14,000 ไมล์ ข้ามน้ำข้ามทะเลกลับบ้าน
ที่มา - GQ Thailand
www.gqthailand.com
www.facebook.com/gqmagazinethailand