นักบวชผู้สวมชุดที่แปลกตา พร้อมขนนกเควตซัล (Quetzal) สีสันสดใสกำลังยกมีดหินขึ้นเตรียมแทงลงที่หน้าอกของเหยื่อที่นอนหายใจรวยรินบนแท่นหินบูชาเหนือยอดพีระมิด โดยมีเป้าหมายเพื่อควักหัวใจที่ยังคงเต้นตุบๆ ขึ้นมาเหนือศีรษะเพื่อถวายเทพเจ้า...ภาพนี้อาจจะคุ้นเคยกันดีเมื่อเราพูดถึงอารยธรรมเมโสอเมริกา หรืออเมริกากลางโบราณที่เจริญรุ่งเรืองในเขตเม็กซิโก แต่ที่จริงแล้ว กลุ่มที่ทำพิธีกรรมควักหัวใจอย่างโหดเหี้ยมเช่นนี้เป็นชาวแอสเท็กซ์ (Aztecs) ที่เริ่มรุ่งเรืองในช่วงปี ค.ศ.1300 เพียงเท่านั้นครับ
สำหรับชนเผ่าอื่นที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่ใกล้เคียงกันและเคยครองอำนาจในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัสและเบลิซ ก่อนหน้านี้ ก็คือชาว “มายาโบราณ” ซึ่งกลับไม่ค่อยทำพิธีกรรมอันน่ากลัวแบบนี้นัก นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าชาวมายาโบราณมีความเมตตากว่าชาวแอสเท็กซ์มากเลยทีเดียว
แต่การค้นพบใหม่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2019 ดูเหมือนจะเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับชาวมายาไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้พวกเขาไม่ใช่กลุ่มชนที่อ่อนโยนหรือรักสงบเหมือนที่เคยเชื่อกันมาก่อน ชาวมายาโบราณยังเคยทำ “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total War) โดยการต่อสู้แบบเต็มพิกัด ด้วยการระดมพลทั้งหมดเพื่อทำลายศัตรูอย่างเด็ดขาด และที่น่าทึ่งคือ สตรีอาจเป็นผู้ที่นำสงครามเหล่านี้!
ช่วงเวลาที่ค้นพบในประวัติศาสตร์มายาโบราณเรียกว่า “ยุคคลาสสิก” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.250 ถึงปี ค.ศ.900 นับเป็นยุคที่นครรัฐของชาวมายาโบราณอยู่ในช่วงเฟื่องฟูที่สุด แต่หลังจากปี ค.ศ.900 นครรัฐเหล่านี้กลับล่มสลายไปโดยไม่เหลือร่องรอยใดๆ

ในอดีตนักมายันวิทยาเคยสันนิษฐานว่าอารยธรรมมายาโบราณในยุคคลาสสิกล่มสลายลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จนชาวมายาโบราณต้องทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและอาหาร แต่จากหลักฐานใหม่ที่ค้นพบอาจชี้ให้เห็นว่าชนเหล่านี้อาจประสบกับสงครามอย่างรุนแรง ถึงขั้น “เผาบ้านเผาเมือง” โดยที่ยังไม่มีภัยแล้งวิกฤติอย่างที่เชื่อกันมาก่อน
เมืองสำคัญในยุคคลาสสิกที่ถูกกล่าวถึงในครั้งนี้มีสองแห่งครับ แห่งแรกคือเมือง “นารันโฮ” (Naranjo) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกัวเตมาลา ใกล้ชายแดนฝั่งตะวันตกของเบลิซ อีกแห่งคือเมือง “วิตซนา” (Witzna) ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของนารันโฮ ห่างออกไปประมาณ 32 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้คือหลักฐานที่พบในนครวิตซนากับจารึกบนศิลาจากเมืองนารันโฮ ซึ่งบ่งบอกถึงเหตุการณ์เดียวกันที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการ “เผาเมือง” ในครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองวิตซนา
แผ่นศิลาจารึกจากเมืองนารันโฮที่พบนี้มีข้อความระบุถึงสงครามระหว่างเมืองนารันโฮกับนครรัฐอื่นๆในบริเวณเดียวกัน โดยข้อความหนึ่งที่ถอดความได้มีเนื้อหาดังนี้
“ในวันที่ 3 เบน 16 เซค เมืองบาห์ลัม โฮล (Bahlam Jol) ถูกเผาเป็นครั้งที่สอง”
ข้อความนี้แสดงวันที่ในระบบปฏิทินของชาวมายาโบราณซึ่งตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.697 นั่นหมายความว่าวันที่เมือง “บาห์ลัม โฮล” ถูกเผาครั้งที่สองเกิดขึ้นในช่วงยุครุ่งเรืองของอาณาจักรมายาโบราณในยุคคลาสสิก

คำถามถัดมาคือ เมือง “บาห์ลัม โฮล” ตั้งอยู่ที่ไหนในอาณาจักร? คำถามนี้ไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ เพราะอาณาจักรมายาโบราณตั้งอยู่ในป่าดงดิบ ซึ่งเหมาะกับนักผจญภัยระดับเทพเช่น “อินเดียน่า โจนส์” มากกว่าที่จะเป็นงานของนักโบราณคดีทั่วไป นอกจากนี้อาณาจักรมายายังมีพื้นที่ลึกลับอีกมากมายที่ยังไม่เคยค้นพบใต้ผืนป่า อย่างไรก็ตาม นักมายันวิทยาโชคดีที่ค้นพบหลักฐานในเมือง “วิตซนา” ซึ่งพบคำว่า “บาห์ลัม โฮล” ที่สื่อถึงเมืองเดียวกัน นั่นหมายความว่าเมือง “บาห์ลัม โฮล” และ “วิตซนา” คือเมืองเดียวกันครับ
การค้นพบทางโบราณคดีจากชั้นดินที่ลึกลงไป 7 เมตรใต้ทะเลสาบ ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับชาวมายาโบราณและตั้งอยู่ในพื้นที่ของเมืองวิตซนาในอดีต ได้ยืนยันความเป็นไปได้ว่าเมือง “บาห์ลัม โฮล” ในจารึกของชาวมายาโบราณและเมือง “วิตซนา” ที่ถูกตั้งชื่อในปัจจุบันน่าจะเป็นเมืองเดียวกัน
หลายคนคงทราบว่าโดยทั่วไปแล้วชั้นดินที่ลึกกว่าจะสะท้อนถึงยุคสมัยที่เก่าแก่กว่าชั้นดินที่อยู่ใกล้พื้นผิว (แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างตามปัจจัยอื่นๆ) โดยการขุดสำรวจโบราณคดี นักโบราณคดีสามารถใช้หลักการนี้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในอดีตจากการขุดชั้นดินในทะเลสาบและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ พบว่าชั้นดินในทะเลสาบเมืองวิตซนามีการสะสมขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีการทับถมประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งบ่งบอกถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเตรียมที่เพาะปลูก ซึ่งพบเรณูข้าวโพดในชั้นดินต่างๆด้วย

อีกข้อค้นพบที่นักโบราณคดีรายงานจากการตรวจสอบชั้นดินคือชั้นดินหนาประมาณ 3 เซนติเมตรที่เต็มไปด้วย “ถ่าน” ซึ่งแม้ว่าการถางป่าและเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมจะเป็นกิจกรรมปกติในสมัยมายาโบราณ แต่นักโบราณคดีกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยพบชั้นดินที่หนาขนาดนี้มาก่อน มันจึงไม่น่าจะมาจากการเผาป่าโดยตรง นอกจากนี้ยังพบว่าในชั้นดินที่อยู่เหนือชั้นถ่านนี้ เรณูข้าวโพดก็ลดลงอย่างผิดปกติ แต่ก่อนที่จะสรุปอะไรได้ นักโบราณคดีก็ต้องหาคำตอบว่าถ่านชั้นหนานี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด
หนึ่งในเทคนิคที่ใช้ในการหาค่าอายุที่เชื่อถือได้ในทางโบราณคดีก็คือการใช้วิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี (Carbon-14) ซึ่งโชคดีที่เรามีหลักฐานเป็น “ถ่าน” ที่มีคาร์บอนหนาอยู่ในชั้นดินนี้ การตรวจสอบหาค่าอายุจึงทำได้ไม่ยากนัก และผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจสอบคือถ่านชั้นหนานี้เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.690 ถึง ค.ศ.700 ซึ่งตรงกับยุคเฟื่องฟูของอาณาจักรมายาโบราณในช่วงยุคคลาสสิก และไม่มีหลักฐานของภัยแล้งใดๆ แสดงอยู่ ส่วนชั้นดินที่พบเรณูข้าวโพดที่ลดลงต่อมาก็อยู่ในช่วงหลายศตวรรษถัดไป สอดคล้องกับหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเกิดภัยแล้งในช่วงท้ายของยุคคลาสสิกพอดี
เห็นช่วงปีที่ตรวจสอบจากคาร์บอนกัมมันตรังสีแล้วใช่ไหมครับ? คุ้นๆ กันบ้างหรือเปล่า?

จากการจารึกของเมืองนารันโฮบอกว่าเมือง “บาห์ลัม โฮล” ถูกเผาเป็นครั้งที่สองในช่วงปี ค.ศ.697 และยังพบสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าเมืองบาห์ลัม โฮลก็คือเมืองวิตซนา หลักฐานเหล่านี้สนับสนุนให้นักมายันวิทยาตั้งสมมติฐานว่าเมือง “บาห์ลัม โฮล” น่าจะเป็นเมือง “วิตซนา” ซึ่งมีหลักฐานชั้นถ่านหนาถึง 3 เซนติเมตร และหลักฐานนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเมืองวิตซนา หรือบาห์ลัม โฮลเคยถูกเผาอย่างแน่นอน และข้อมูลนี้สอดคล้องกับจารึกบนแผ่นศิลาจากเมืองนารันโฮอย่างพอดี
คำถามถัดไปคือการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการเผาเมืองครั้งใหญ่ที่เมืองวิตซนานี้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับนักมายันวิทยาอย่างไรบ้าง?

ในช่วงแรก นักมายันวิทยาเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้อารยธรรมมายาโบราณยุคคลาสสิกล่มสลายในช่วงปี ค.ศ.900 นั้นมาจากภัยแล้งที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวมายาโบราณซึ่งเดิมเคยเป็นผู้รักสงบต้องหันมาเข้าสู่สงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร จนทำให้เมืองหลายแห่งถูกทิ้งร้าง แต่การค้นพบหลักฐานจากเมืองวิตซนาได้กระตุ้นให้นักมายันวิทยาเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะแม้จะพบว่ามายาโบราณมีการทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนและจับผู้พ่ายแพ้ไปเป็นเชลยหรือบูชายัญ แต่นักมายันวิทยากลับมองว่าสงครามเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสงครามเชิง “พิธีกรรม” เพื่อแสดงอำนาจ ไม่เคยมีหลักฐานของการ “ทำลายล้าง” เมืองแบบเผาทำลายราบคาบมาก่อน

นั่นหมายความว่าสงครามระหว่างนครนารันโฮกับเมืองวิตซนาในปี ค.ศ.697 ไม่ใช่เพียงสงครามทางพิธีกรรมอีกต่อไป แต่กลายเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” ซึ่งเป้าหมายของผู้บุกรุกคือการทำลายล้างข้าศึกให้สิ้นซาก ทั้งประชาชน, บ้านเรือน, และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในบางช่วงของประวัติศาสตร์ ชาวมายาโบราณอาจจะมีความโหดร้ายและกระหายสงครามมากกว่าที่นักมายันวิทยาคาดคิด นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าภัยแล้งไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดสงครามระหว่างเมือง จนทำให้เกิดการล่มสลายของอาณาจักรมายาโบราณในปี ค.ศ.900 แต่มันเกิดก่อนที่ภัยแล้งจะส่งผลในช่วงปลายยุคคลาสสิกของชาวมายาโบราณหลายศตวรรษเลยทีเดียว
และที่น่าสนใจคือผู้ที่ก่อสงครามอันแสนโหดร้ายนี้กลับเป็น “สตรี” ไม่ใช่บุรุษ จากประวัติศาสตร์ของนครนารันโฮในช่วงที่เกิดการเผาเมืองวิตซนาครั้งใหญ่นั้น ผู้ที่ปกครองนครนารันโฮคือ “กษัตรี” พระนามว่า “สตรี 6 นภา” (Lady 6 Sky) ซึ่งนางพยายามฟื้นฟูราชวงศ์ที่เสื่อมสลายให้กลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งด้วยการทำสงครามกับนครรัฐต่างๆ ที่ขัดขืน

นักมายันวิทยาทราบว่าศิลาแห่งนารันโฮไม่เพียงแต่กล่าวถึงนครวิตซนาเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงอีก 3 นครที่ได้รับผลกระทบจากการ “เผา” อย่างรุนแรงในสงครามด้วย แม้ว่าผลลัพธ์ของการทำลายล้างอย่างโหดเหี้ยมนี้จะไม่ได้ทำให้เมืองวิตซนาถูกทิ้งร้างในทันที แต่เหตุการณ์นี้ก็ช่วยให้เราสามารถจินตนาการได้ว่าเมื่อ “สตรี” ชาวมายาพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ พวกเธอจะมีความโหดเหี้ยมในการทำสงครามที่ไม่แพ้บุรุษเลยแม้แต่น้อย
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน
โดย : ชัค บาห์ลัม