ในบทแรกของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเซเชลส์กล่าวว่า “พวกเราชาวเซเชลส์ขอขอบพระคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ให้เรามีโอกาสอาศัยอยู่ในประเทศที่เต็มไปด้วยความงามเหนือคำบรรยาย เราเข้าใจถึงความสำคัญและความอ่อนแอของหมู่เกาะเซเชลส์...”
หากข้อความข้างต้นฟังดูคล้ายคำแถลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็คงไม่แปลก เพราะหมู่เกาะเซเชลส์นั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่ควรได้รับการดูแลและรักษาไว้ โดยเฉพาะที่เกาะหินแกรนิตทางตะวันออกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของเซเชลส์ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 93,000 คน เกาะเหล่านี้คือส่วนยอดของแผ่นดินที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งแยกตัวออกจากมหาทวีปกอนด์วานาพร้อมกับอินเดียและมาดากัสการ์เมื่อ 125 ล้านปีก่อน

การแยกตัวทางวิวัฒนาการอันยาวนาน รวมกับการเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพได้สร้างสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากมาย เช่น กบตัวเล็กขนาดไม่เกินเล็บมือ เต่ายักษ์ที่มีน้ำหนักถึง 250 กิโลกรัม และต้นปาล์มที่มีผลขนาดใหญ่จนถ้าตกใส่อาจทำให้กะโหลกศีรษะแตกได้

ที่ปลายสุดของหมู่เกาะหินแกรนิตทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของเกาะเฟรกาต ซึ่งเป็นเกาะส่วนตัวที่มีรีสอร์ตหรูหราและยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือนกกางเขนหมู่เกาะเซเชลส์ ซึ่งเคยมีประชากรจำนวนมาก แต่เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1960 นกชนิดนี้เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 15 ตัวบนเกาะขนาดสองตารางกิโลเมตร นักอนุรักษ์จึงเริ่มโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยกำจัดแมวจรจัดออกไป และสร้างบ้านหรือรังให้กับพวกมัน รวมทั้งจัดหาอาหารเสริม เมื่อจำนวนนกกางเขนเพิ่มขึ้น จึงมีการขนย้ายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์บนเกาะอื่นที่ปลอดภัยจากนักล่า เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด ปัจจุบันจำนวนประชากรนกกางเขนหมู่เกาะเซเชลส์ก็เพิ่มขึ้นจนมีจำนวนหลายร้อยตัวแล้ว

สิ่งที่ไม่แพ้ความสำคัญจากบรรพบุรุษยุคอดีตบนเกาะเฟรกาตก็คือกิ้งกือยักษ์เซเชลส์ สัตว์ขาปล้องตัวสีดำขลับขนาดเท่ากับนิ้วมือ ยาว 15 เซนติเมตร กิ้งกือเหล่านี้มักจะมีชีวิตชีวาที่สุดในช่วงเวลากลางคืน “ไม่มีหมู่เกาะอื่นใดที่เหมือนกับเซเชลส์” คริสโตเฟอร์ ไคเซอร์-บันเบอร์รี นักนิเวศวิทยา กล่าวและเสริมว่า “หมู่เกาะกาลาปากอสเป็นที่รู้จักจากการศึกษาของดาร์วิน แต่เซเชลส์ก็ไม่แพ้กันเลย”


ภาพถ่ายโดย ทอมัส พี. เพสแชก
www.ngthai.com