หากพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ คือสุดยอดของพระเครื่องทั่วไป เหรียญใดจะเป็นที่สุดของเหรียญพระเกจิ? คำตอบคือ เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ รุ่นแรก ปี 2469 ที่รู้จักกันในชื่อ“พิมพ์ขอเบ็ด” จากวัดพระญาติการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เหรียญนี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากเซียนพระและนักสะสมพระเครื่อง รวมถึงเหรียญของคณาจารย์ต่างๆ ว่าเป็นหนึ่งในห้าเหรียญพระเกจิที่ดีที่สุด หรือที่เรียกว่า “เบญจภาคีเหรียญพระเกจิ” ปัจจุบันหากเป็นเหรียญสภาพดี ราคาก็อาจสูงถึง 30 ล้านบาท ไม่ผิดแน่ครับราคานี้แหละ
เหรียญพระเกจิพิมพ์ขอเบ็ด
หลวงพ่อกลั่น ท่านเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2390 ที่ตำบลท่าหลวง และเริ่มศึกษาการเขียนอักขระขอมโบราณที่สำนักวัดประดู่ทรงธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อถึงวัยอุปสมบท ท่านได้บวช ณ วัดโลกะยะสุธา ศาลาปูน โดยมีพระญาณไตรโลก (สะอาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูกุศลธรรมธาดา วัดขุนญวน รวมทั้งพระอธิการชื่น วัดพระญาติการาม เป็นคู่สวด ท่านมุ่งมั่นศึกษาในทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ชื่นจนมีความเชี่ยวชาญ
ท่านมักจะออกธุดงค์ในช่วงออกพรรษา เพื่อแสวงหาความสงบและฝึกวิปัสสนากรรมฐานอยู่เสมอ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดญาติการาม ท่านเป็นพระที่มีศีลและจริยาวัตรที่งดงาม มีเมตตาธรรมสูง และมีพลังจิตเข้มขลัง โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ชื่อเสียงของท่านแพร่หลายเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
ท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2477 รวมอายุ 87 ปี 60 พรรษา ส่วนจำนวนมวลสารและเหรียญที่สร้างแต่ละชนิดนั้น ได้บันทึกไว้ในบันทึกของวัดพระญาติการาม โดยหลวงพ่ออั้น เจ้าอาวาสในเวลาต่อมา ดังนี้
ในการสร้างเหรียญในคราวนั้น มีการผลิตเหรียญหลวงพ่อกลั่นที่มีมวลสารพิเศษ เช่น เหรียญเงินหน้าทอง จำนวนประมาณ 12 เหรียญ เหรียญเงินหน้าทองเหลืองจำนวนประมาณ 25 เหรียญ เหรียญเงินธรรมดาจำนวนประมาณ 100 เหรียญ และเหรียญทองแดงจำนวนประมาณ 3,000 เหรียญ


พุทธลักษณะของเหรียญเป็นทรงเสมา มีหูในตัว ด้านบนสุดของเหรียญระบุปีที่สร้างคือ “พ.ศ. 2469” ส่วนตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อกลั่นเต็มองค์ รอบๆ มีอักขระขอม และลวดลายกระหนกที่ประณีตสวยงาม
ขอบเหรียญจะมีการจารึกอักษรไทยว่า “หลวงพ่ออุปัชฌาย์ (กลั่น) วัดพระญาติ” ภายในขอบที่มีลักษณะคล้ายโบ พิมพ์ด้านหลังจะเป็นยันต์เฑาะว์ที่ขมวดกัน ด้านบนจารึกว่า “ที่รฤก ในการ” และด้านล่างจะจารึกว่า “ปฏิสังขรณ์ อุโบสถ” ส่วนในยันต์เฑาะว์ที่ขมวดนั้นมีลักษณะคล้ายขอเบ็ด
จึงได้เรียกพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์ขอเบ็ด” จุดเด่นของเหรียญนี้คือขอบข้างที่เรียกว่า “ข้างกระบอก” แล้วข้างกระบอกหมายถึงอะไร? ข้างกระบอกคือการนำแผ่นโลหะมาปั๊มให้ได้รูปทรงของเหรียญก่อนที่จะเข้าไปในกระบอก การกดปั๊มเหรียญที่มีขอบกระบอกจะทำให้ข้างเหรียญมีความเรียบเนียน บางเหรียญจะมีเส้นทิวบางๆ ที่ขอบเหรียญ เนื่องจากการตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งทำให้บางคนในสมัยก่อนเข้าใจผิดว่าเป็นรอยเลื่อย
เหรียญหลวงพ่อกลั่น รุ่นแรก
สำหรับเหรียญหลวงพ่อกลั่น รุ่นแรก พิมพ์ขอเบ็ดแท้ๆ นั้นต้องเป็นแบบข้างกระบอกเท่านั้นครับ นี่คือจุดสำคัญที่ต้องจำไว้ให้ดี ส่วนเหรียญเสมารูปเหมือนหลวงพ่อกลั่นยังมีอีกสองพิมพ์ที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นเหรียญที่ทันหรือไม่ทันการเสกของท่าน นั่นคือ พิมพ์หลังเรียบและพิมพ์เสี้ยนตอง
เหรียญหลวงพ่อกลั่น พิมพ์หลังเรียบ เนื้อทองแดง ถูกสันนิษฐานว่าได้ทำในช่วงประมาณปี 2480 ซึ่งเป็นปีที่หลวงพ่อกลั่นมรณภาพไปแล้วประมาณ 3 ปี
บล็อกหน้าใช้แม่พิมพ์เก่าจากปี 2469 มาปั๊มใหม่ ทำให้เกิดขี้กลากทั่วทั้งเหรียญด้านหน้า เนื่องจากแม่พิมพ์เก่าจะเกิดสนิมหรือสึกหรอไปแล้ว
ส่วนด้านหลังนั้นมีการแกะพิมพ์ใหม่ ทำให้เหรียญด้านหลังไม่มีขี้กลาก บล็อกนี้ได้รับความนิยมมาก และของปลอมสามารถทำเลียนแบบได้ใกล้เคียง ดังนั้นเมื่อแยกแท้และปลอม ต้องสังเกตที่ขอบข้างของเหรียญ
ขอบข้างของเหรียญถือเป็นจุดสำคัญ โดยเฉพาะบล็อกหลังเรียบที่เป็นเหรียญปั๊ม ซึ่งจะมีรอยเลื่อยที่ขอบข้างทุกเหรียญ
เหรียญหลวงพ่อกลั่น พิมพ์หลังเสี้ยนตอง เนื้อทองแดง คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงปี 2485 ขึ้นไป เนื่องจากใช้วิธีการปั๊มตัดแล้ว
บล็อกเสี้ยนตองที่พบเห็นมีหลายประเภท ได้แก่ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ทองแดงรมดำ ทองแดงไม่รมดำ และทองแดงมีผิวไฟ เหรียญชุดนี้มีขี้กลากที่บล็อกหน้าเนื่องจากใช้แม่พิมพ์เก่ามาปั๊มใหม่ แต่ด้านหลังแกะพิมพ์ใหม่ โดยเหรียญชุดนี้จะมีตำหนิเป็นเส้นเสี้ยนวิ่งทั่วทั้งเหรียญด้านหลังในแนวเฉียง (จึงเรียกพิมพ์หลังเสี้ยนตอง) เหรียญหลวงพ่อกลั่นบล็อกเสี้ยนตองนี้เป็นเหรียญปั๊มที่มีการตัดแบบโบราณ
สรุปเหรียญหลวงรูปเหมือนหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติที่กำลังเป็นที่นิยมและหากันในขณะนี้
บล็อกหน้าเหรียญมีเพียงบล็อกเดียว ซึ่งมีทั้งแบบที่มีขี้กลากและไม่มีขี้กลาก ส่วนบล็อกหลังมีสามพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ขอเบ็ด, พิมพ์หลังเรียบ, และพิมพ์หลังมีเสี้ยน ขอบข้างมีทั้งที่ตัดขอบกระบอก, ขอบเลื่อยออก, และขอบปั๊มตัดแบบโบราณ
เหรียญปี 2469 พิมพ์ขอบเบ็ด ขอบข้างตัดแบบขอบกระบอก
เหรียญปี 2480 พิมพ์ด้านหน้ามีขี้กลาก ด้านหลังเรียบ ขอบข้างแบบข้างเลื่อย
เหรียญปี 2485 พิมพ์ด้านหน้ามีขี้กลาก ด้านหลังเสี้ยนตอง ขอบข้างตัดแบบโบราณ
หากท่านต้องการสะสมเหรียญนี้ ผมขอแนะนำให้เลือกพิมพ์ขอเบ็ด เพราะเป็นพิมพ์ที่มีมาตรฐานและไม่มีข้อสงสัยใดๆ แต่หากเลือกสะสมพิมพ์หลังเรียบหรือพิมพ์เสี้ยนตอง อาจจะต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนกับผู้ที่อาจสงสัยบ้างครับ
ค่านิยมของพิมพ์ขอเบ็ด แม้สภาพจะสึกๆ จนไม่เห็นองค์พระก็มีราคาหลายแสนบาท ถ้าเป็นสภาพสวยๆ อย่างแชมป์ก็สามารถขึ้นไปถึง 30 ล้าน ส่วนพิมพ์หลังเรียบและเสี้ยนตองก็ไม่ได้ราคาถูก ยี่ห้อพ่อกลั่นยังไงก็ตั้งหลักแสน และถ้าเป็นเหรียญสวยๆ ราคาแตะหนึ่งล้านแน่นอนครับ