กรวัฒน์ เจียรวนนท์ เล่าถึงการเป็นทายาทเจ้าสัวซีพีรุ่นที่ 3 ว่าความสำเร็จไม่ได้มาง่าย ๆ แต่ต้องผ่านการท้าทายด้วยตัวเองจนสามารถทำให้ Amity ติดอันดับ 150 บริษัทที่เติบโตสูงสุดในยุโรป จากการจัดอันดับของไฟแนนเชียล ไทม์
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Amity ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านโซเชียลคลาวด์ที่มีลูกค้าทั่วโลก ในปี 2565 สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ ได้จัดอันดับ Amity ให้เป็นบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในยุโรป โดยติดอันดับที่ 132 ใน 150 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุด
การเป็นทายาทเจ้าสัวซีพีไม่ได้หมายความว่าจะมีชีวิตที่ราบรื่น
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ หรือ ภู นอกจากจะเป็นผู้บริหารหนุ่มที่สามารถสร้างชื่อให้กับธุรกิจเทคโนโลยีในวัยเพียง 28 ปีแล้ว ยังเป็นลูกชายของ ศุภชัย เจียรวนนท์ และหลานของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นทายาทซีพีรุ่นที่ 3 ที่หลายคนจับตามอง
แม้ว่าจะเป็นทายาทของเจ้าสัวซีพี แต่กรวัฒน์ได้เผยว่า ครอบครัวมีนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าลูกหลานรุ่นถัดไปจะต้องสร้างธุรกิจของตัวเองให้ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อให้ลงมือทำงานหาเงินและหานักลงทุนเอง ซึ่งส่งผลให้เขาสร้าง Amity บริษัทเทคสตาร์ทอัพจากประเทศไทย ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
กรวัฒน์เผยว่า “คำแนะนำจากคุณพ่อและท่านเจ้าสัวมีมากมาย แต่ที่สำคัญคือไม่ใช่การให้เงินแบบไม่มีขีดจำกัด เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทั้งสองท่านมีกฎให้เราทำเองหาทางขายและหานักลงทุนด้วยตัวเอง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นทายาทซีพีไม่ได้ทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะสิ่งที่ท่านเจ้าสัวต้องการคือให้ลูกหลานเรียนรู้การทำธุรกิจด้วยตนเอง
หนทางสู่ความสำเร็จยังคงยาวไกล
กรวัฒน์มองว่าความสำเร็จของ Amity ยังห่างไกลจากคำว่าประสบความสำเร็จ เขายังมีหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ หลังจากก่อตั้งบริษัทเมื่อ 10 ปีก่อนในวัยเพียง 18 ปี และตั้งเป้าหมายการขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการสร้างธุรกิจให้เติบโต
“ในอดีต เรามีหลายโปรดักส์ที่ทำแล้วไม่สำเร็จ กว่าจะเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศได้ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามมาก นานหลายปีถึงจะเจอโปรดักส์ที่สามารถตอบโจทย์ตลาดได้ และเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าโปรดักส์บางตัวจะออกมาได้บ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากมาก สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจด้วยตัวเองคือการต้องสามารถเอาตัวรอดให้ได้”

หลังจากที่ Amity สามารถขยายตลาดต่างประเทศได้จนเป็นที่รู้จัก กรวัฒน์ได้ก่อตั้งบริษัทย่อยใหม่ชื่อ แอมิตี โซลูชันส์ (Amity Solutions) ซึ่งมุ่งเน้นทำตลาดในไทยและอาเซียน และเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2567 เพื่อใช้เงินที่ได้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้ GPT (Generative Pre-training Transformer) รวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Amity ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การแยกหน่วยธุรกิจในครั้งนี้ทำให้โครงสร้างของ Amity แบ่งออกเป็นสองบริษัทที่ตลาดชัดเจน แต่ยังคงมีความร่วมมือกันในฐานะพาร์ทเนอร์ผ่านโฮลดิ้งคอมพานีที่ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท
นอกจากความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้ว กรวัฒน์ยังมีความสุขในชีวิตส่วนตัว เมื่อเขากำลังเตรียมตัวแต่งงานกับแฟนสาวชาวรัสเซียที่คบหากันมานานกว่า 4 ปี ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ตามหลังน้องสาว ฟ่ง-กมลนันท์ เจียรวนนท์ ที่เพิ่งแต่งงานกับ ชานันท์ โสภณพนิช ไปไม่กี่เดือนก่อน