หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ “นักแก้ไขการพูด” ในตอนที่แล้ว สัปดาห์นี้เราจะมาพบกับแนวทางการบำบัดการพูดในเด็ก ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษา และคำแนะนำเพิ่มเติมที่น่าสนใจอีกมากมาย
วิธีการบำบัด
วิธีการบำบัดสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการพูดช้า จะมุ่งเน้นไปที่การเล่นและการลงมือปฏิบัติจริง โดยจะสอนให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรง การที่เด็กจะพูดออกมาได้นั้น ต้องเกิดจากความสนุก เหมือนกับงานของเขาที่เรียกว่า “การเล่น” เมื่อเขารู้สึกสนุก เขาก็จะอยากพูดและแสดงออกด้วยความต้องการของตัวเองมากกว่าการพูดตามคำสั่ง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการบำบัด “ต้องมีความต้องการพูดเอง ต้องสนุก ต้องมีความปรารถนา เมื่อมีความปรารถนาแล้วจึงสื่อสารออกมา” การสื่อสารที่แท้จริงจะทำให้เด็กมีความต้องการพูดและมีแรงจูงใจในการพูด ซึ่งจะส่งผลให้ความถี่ในการพูดเพิ่มขึ้น เมื่อพูดมากขึ้น คำศัพท์ของเขาก็จะเพิ่มขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้พูดตาม แต่เราจะสอนให้เขาเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มเติม
การฝึกพูดสำหรับเด็กเล็ก จะแนะนำให้ผู้ปกครองเล่นกับเด็กและให้เด็กช่วยทำงานบ้านร่วมกับผู้ปกครอง เพราะเด็กจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เช่น การเช็ดคืออะไร การล้างคืออะไร การถูคืออะไร การแกะคืออะไร การเก็บคืออะไร ซึ่งหากสอนเพียงให้ท่องจำ เด็กจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเช็ด การล้าง หรือการถู เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเน้นให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกับเด็ก ๆ เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เนื่องจากพ่อแม่และผู้ปกครองเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด การที่พ่อแม่เล่นกับเด็กอย่างสนุกสนานและสร้างความไว้วางใจ จะช่วยให้เด็กสื่อสารและเรียนรู้คำศัพท์ได้ดีขึ้น รวมถึงควรลดเวลาการใช้หน้าจอทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กเล็ก
หลังจากที่เด็กได้เข้าสู่กระบวนการฝึกพูดแล้ว จะมีการประเมินผลทุก 6 เดือน หากเด็กยังพูดช้า จะมีการตรวจสอบพัฒนาการทางภาษา เช่น การพูดมากขึ้นหรือไม่ ความเข้าใจในการฟังดีขึ้นหรือไม่ โดยจะประเมินทั้งทักษะการพูดและการฟัง หากเด็กเริ่มพูดได้ยาวขึ้น ก็จะมีการตรวจสอบเรื่องการพูดไม่ชัดเจนเพิ่มเติม

การประเมินว่าพัฒนาการการพูดของเด็กดีขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากความยาวของประโยคและระดับความยากของคำศัพท์ที่ใช้
กล่าวคือ เด็กอาจไม่ได้พูดประโยคยาว ๆ แต่เริ่มใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น คำบุพบท คำวิเศษณ์ หรือคำขยาย ซึ่งการที่เด็กสามารถใช้คำเหล่านี้ได้ แสดงให้เห็นว่าเขามีการเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น และเริ่มใช้คำขยายได้ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดี ความสามารถทางภาษาจะต้องเปรียบเทียบกับอายุจริงของเด็กว่า ตอนนี้อายุเท่าไร พัฒนาการเป็นอย่างไร และควรฝึกอะไรต่อไป การบำบัดจึงมีทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กัน
ในที่สุด เมื่อพัฒนาการด้านการพูดของเด็กเทียบเท่ากับวัยของเขาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาพบ “นักแก้ไขการพูด” อีก ยกเว้นในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นใหม่ ก็สามารถกลับมาปรึกษาและพบนักแก้ไขการพูดได้เช่นเดิม
จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาตั้งแต่เด็กเริ่มหัดพูดจนถึงอายุ 3 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับพัฒนาการด้านการพูดของเด็ก ดังนั้น หากพบว่าเด็กในความดูแลของท่านมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมา ควรพาไปพบแพทย์และนักแก้ไขการพูดโดยเร็ว เพื่อให้การพูดของเด็กพัฒนาได้ตามวัย ช่วยให้เขาสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พูดสื่อสารได้ดี
@@@@@@@@@@
แหล่งที่มา
คุณปรางทิพย์ ศิริชื่นวิจิตร นักแก้ไขความผิดปกติทางการสื่อความหมาย ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติทางการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล