ฟันคุด (ภาษาอังกฤษ: Wisdom Tooth) ปัญหาช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อเกิดอาการปวดฟันคุดขึ้นมา อาจเป็นสัญญาณว่าเหงือกและช่องปากของเรากำลังประสบปัญหาที่ต้องได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ บทความนี้จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับฟันคุดว่าเป็นอย่างไร และหากไม่ถอนฟันคุดจะเป็นอันตรายหรือไม่?
ฟันคุดคืออะไร มีกี่ประเภทและมีลักษณะเป็นอย่างไร?
ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนช่องปากตามปกติ เนื่องจากขากรรไกรไม่เพียงพอหรือมีสิ่งกีดขวาง ไม่ให้ฟันขึ้นมา สาเหตุหลักของฟันคุดมักเกิดจากขนาดขากรรไกรไม่เหมาะสมกับขนาดฟัน ฟันคุดมักพบที่ฟันกรามซี่สุดท้ายและมักเกิดในช่วงอายุ 18-20 ปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะมีปัญหาฟันคุด เพราะบางคนมีขากรรไกรที่ใหญ่พอที่จะรองรับฟันซี่สุดท้ายให้ขึ้นมาได้และกลายเป็นฟันกรามธรรมดาๆ ซี่หนึ่ง
หากฟันคุดไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าฟันคุดออก เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อฟันซี่ข้างเคียงและทำให้เกิดการอักเสบหรือปัญหาช่องปากอื่นๆ นอกจากนี้ หากฟันคุดโผล่ขึ้นมาแล้วไม่สามารถเรียงตัวได้ตามปกติ ก็ต้องถอนฟันคุดออกเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจฟันคุด สามารถดูตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ได้

ฟันคุดมีลักษณะอย่างไรบ้าง? ฟันคุดสามารถมีหลายลักษณะ เช่น ฟันคุดที่ขึ้นเต็มซี่ หรือฟันคุดที่มีเหงือกปกคลุม แต่หากแบ่งตามลักษณะการขึ้นของฟันคุด จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ ดังนี้
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวตรง
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวเฉียง
สำหรับผู้ที่ต้องการจัดฟัน: ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของฟันคุด หากพบปัญหา ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าฟันคุดออก เนื่องจากฟันคุดอาจส่งผลกระทบต่อฟันกรามและอาจเบียดฟันซี่อื่นๆ ในระหว่างการจัดฟัน ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดฟันลดลง
อาการของฟันคุดที่ควรสังเกต
อาการปวดฟันคุดเป็นความเจ็บปวดที่หลายคนไม่อยากประสบ ซึ่งอาจทำให้การเคี้ยวอาหารเป็นเรื่องยาก บางคนอาจปวดจนถึงขั้นนอนไม่หลับ เพราะฟันคุดทำให้เหงือกบวม โดยเฉพาะเมื่อฟันคุดเริ่มงอกขึ้น จะรู้สึกเจ็บเหงือกจนต้องหายามาบรรเทาอาการ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เช่น
- รู้สึกปวดฟันกรามบริเวณซี่ในสุด
- เคี้ยวอาหารไม่สะดวก ปวดหน่วงๆ ที่ขากรรไกร
- เริ่มมีอาการหน้าบวม หรือหน้าบวมข้างเดียว
- เหงือกบวมแดง มีอาการอักเสบ
- บางรายอาจเป็นฝีในช่องปาก

ทำไมต้องเอาฟันคุดออก ไม่ผ่า ไม่ถอน ได้หรือไม่?
หากฟันคุดไม่สามารถโผล่ขึ้นมาตามแนวฟันได้ปกติ แต่มีลักษณะเอียงเป็นแนวนอน หรือซ้อนทับฟันซี่อื่นๆ อยู่ใต้เหงือก จะทำให้รู้สึกปวด มีอาการเหงือกบวมและอักเสบ
แต่หากฟันคุดโผล่ขึ้นมาแล้ว แต่อาจจะขึ้นมาได้เพียงบางส่วน จะทำให้แปรงทำความสะอาดยาก เพราะเป็นฟันซี่สุดท้ายที่อยู่ลึกสุด ฟันคุดจึงกลายเป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรีย เนื่องจากบริเวณรอบฟันคุดอาจมีเศษอาหารติดได้ง่าย โดยจะส่งผลกระทบให้มีอาการต่างๆ ตามมา เช่น
- ฟันผุง่าย
- มีกลิ่นปาก
- เหงือกอักเสบ
- หน้าบวม/แก้มบวม
- อ้าปากไม่ขึ้น
- รู้สึกปวดหัว
- เกิดถุงน้ำใกล้ขากรรไกร
ดังนั้น หากคุณสงสัยว่าฟันคุดของคุณควรถูกผ่าหรือถอนออกหรือไม่? คำตอบที่ดีที่สุดคือการปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะใช้ฟิล์มเอกซเรย์ในการตรวจสอบเพื่อประเมินว่าฟันคุดของคุณส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนก่อนตัดสินใจรักษา

ข้อควรระวังก่อนและหลังการผ่าฟันคุด
ก่อนผ่าฟันคุด ควรทำอย่างไร?
ไม่ว่าจะเป็นการ ผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด สิ่งสำคัญคือการปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับเลือด รวมถึงผู้ที่ทานยาเป็นประจำ เนื่องจากหลังการผ่าฟันคุด อาจต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งในบางกรณีไม่สามารถใช้ได้ เพราะอาจกระทบกับโรคประจำตัวของคุณ
ผ่าฟันคุด เจ็บไหมและใช้เวลาหายกี่วัน?
ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเพื่อทำให้คุณไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการผ่าฟันคุด เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ทันตแพทย์จะพิจารณาสั่งยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เป็นต้น ประมาณ 1 สัปดาห์หลังการผ่าฟันคุด ทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหมหรือตรวจเช็กอาการอีกครั้ง

ผ่าฟันคุด ปัจจุบันมีราคาเท่าไร?
สำนักงานประกันสังคมให้สิทธิ์ผู้ประกันตนในการใช้บริการทางทันตกรรมไม่เกิน 900 บาทต่อปี สำหรับการผ่าฟันคุดในโรงพยาบาลรัฐ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันต้นๆ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกเอกชน เริ่มต้นที่ประมาณ 1,500-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละกรณีและอัตราค่าบริการของแต่ละที่
การดูแลตัวเองหลังการผ่าฟันคุด ควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง?
หลังการผ่าฟันคุด ไม่ควรบ้วนเลือดหรือบ้วนปากแรงๆ ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังผ่าฟันเสร็จ และควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรงๆ ในช่วงแรก ให้ใช้น้ำเกลือบ้วนปากเบาๆ เพื่อรักษาความสะอาดและกำจัดแบคทีเรียแทน นอกจากนี้ควรงดรับประทานอาหารเผ็ดหลังการผ่าฟันคุด เนื่องจากอาจทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ
ฟันคุด เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม หากมีอาการปวดหรือสงสัยว่าฟันคุดเป็นสาเหตุ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาวิธีดูแลรักษาที่เหมาะสมและถูกต้อง